รักษาพรหมจรรย์ไว้ด้วยน้ำตา

 รักษาพรหมจรรย์ไว้ด้วยน้ำตา

พระร้องไห้



ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม, แม้จะทุกข์กายทุกข์ใจ ถึงน้ำตานองหน้า ร้องไห้อยู่ ก็ยังสู้ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้ ก็มี ข้อที่น่าสรรเสริญเธอให้เหมาะสมแก่ธรรมที่เธอมีในบัดนี้ มีอยู่ห้าอย่าง. ห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ :- (๑) ธรรมที่ชื่อว่า ศรัทธา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้วแก่เธอ. (๒) ธรรมที่ชื่อว่า หิริ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้วแก่เธอ. (๓) ธรรมที่ชื่อว่า โอตตัปปะ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้วแก่เธอ. (๔) ธรรมที่ชื่อว่า วิริยะ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้วแก่เธอ. (๕) ธรรมที่ชื่อว่า ปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้วแก่เธอ.

    ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม, แม้จะทุกข์กายทุกข์ใจ ถึงน้ำตานองหน้า ร้องไห้อยู่ ก็ยังสู้ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้ก็มี. ข้อที่น่าสรรเสริญเธอให้เหมาะสมแก่ธรรม ที่เธอมีในบัดนี้ ห้าอย่างเหล่านี้แล.


    บาลี พระพุทธภาษิต ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔/๕.

คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗

 คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗

#พุดตูนนิ่งทำไม


ถ้าเขาจะนินทา


    บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสีย ทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้นผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล บุคคลใดแล พึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว ไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้น ว่าเป็นสารถี คนนอกนี้เป็นคนถือเชือก พึงชนะความโกรธด้วยความ ไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ไม่พึง โกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคลพึงไปในสำนักแห่ง เทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี
    ดูกรอตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณมิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้ ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้วทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด ผู้มีความประ พฤติไม่ขาดเป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ใครย่อมควร เพื่อจะนินทาบุคคลนั้นผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุช แม้เทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น แม้พรหมก็สรรเสริญบุคคล นั้น ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกายพึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย ละกาย ทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วยวาจา ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา พึงรักษาความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยใจ ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ นักปราชญ์ทั้งหลาย สำรวมแล้วด้วยกาย สำรวมแล้วด้วยวาจา สำรวมแล้วด้วยใจ ท่านเหล่านั้นแล สำรวม เรียบร้อยแล้ว ฯ

จบโกธวรรคที่ ๑๗

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๕ 

สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต. 

หน้าที่ ๓๑     ข้อที่ ๒๗

ต้องขึงสายพิณพอเหมาะ

 ต้องขึงสายพิณพอเหมาะ

ต้องขึงสายพิณพอเหมาะ



โสณะ ! เธอมีความคิดในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร : เมื่อก่อนแต่ครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอเชี่ยวชาญในเรื่องเสียงแห่งพิณ  มิใช่หรือ ? “เป็นเช่นนี้  พระเจ้าข้า !”. โสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อใด สายพิณของเธอขึงตึงเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ  จะใช้การได้หรือ ? “ไม่เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”. โสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อใดสายพิณของเธอขึงหย่อนเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ  จะใช้การได้หรือ ? “ไม่เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”. โสณะ ! แต่ว่า เมื่อใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงนักหรือไม่หย่อนนัก ขึงได้ระเบียบเสมอๆ กันแต่พอดี เมื่อนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือใช้การได้ดี มิใช่หรือ ? “เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.

โสณะ ! ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ ความเพียรที่บุคคลปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน, ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน. โสณะ ! เหตุผลนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี, จงเข้าใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ต้องเป็นธรรมชาติที่เสมอๆ กัน, จงกำหนดหมายในความพอดีนั้นไว้เถิด. “พระเจ้าข้า ! ข้าพระองค์จักปฏิบัติอย่างนั้น”.


-บาลี ฉกฺก. อํ ๒๒/๔๑๘/๓๒๖.

ผู้ไม่หลงเอาสิ่งอื่นมาเป็นแก่น

ผู้ไม่หลงเอาสิ่งอื่นมาเป็นแก่น

เจโตวิมุตติ



ภิกษุทั้งหลาย ! พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เจโตวิมุตติ {๑} ที่ไม่กำเริบอันใดมีอยู่, พรหมจรรย์นี้มี สิ่งนั้น นั่นแหละเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย เป็นแก่นสาร เป็นผลสุดท้ายของพรหมจรรย์แล.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการด้วยแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวค้นหาแก่นไม้ จนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว ตัดเอาแก่นถือไปด้วยมั่นใจว่า ‘นี่เป็นแก่นแท้’ ดังนี้. บุรุษมีตาดี เห็นคนนั้นเข้าแล้ว ก็กล่าวว่า “ผู้เจริญคนนี้ ช่างรู้จักแก่น, รู้จักกระพี้, รู้จักเปลือกสด, รู้จักสะเก็ดแห้งตามผิวเปลือก, รู้จักใบอ่อนที่ปลายกิ่ง. จริงดังว่า ผู้เจริญคนนี้ ต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวค้นหาแก่นไม้ จนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว ก็ตัดเอาแก่นแท้ถือไปด้วยมั่นใจว่า ‘นี่ เป็นแก่นแท้’ ดังนี้. สิ่งที่เขาจะต้องทำด้วยแก่นไม้ จักสำเร็จประโยชน์เป็นแท้” ดังนี้.

๑. เจโตวิมุตติ คือ การบรรลุอรหัตตผลโดยมีน้ำหนักของการทำสมาธิมากกว่าการกระทำด้านอื่นๆ. แบบของการหลุดพ้นยังมีอย่างอื่นอีก เช่น สัทธาวิมุตติ, ปัญญาวิมุตติ เป็นต้น.


-บาลี มู. ม. ๑๒/๓๗๓/๓๕๒.

คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๓)

 คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๓)

คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๓)



พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! เราจักแสดงธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลงเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลงผู้อื่นผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.     (๒) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบของเรา อนึ่ง เราพึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทานด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากอทินนาทานด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากอทินนาทานด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.         (๓) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่งอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของผู้อื่น ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.      (๔) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากมุสาวาทด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากมุสาวาทด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากมุสาวาทด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

(๕) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่งอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงยุยงให้เราแตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงยุยงผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้เว้นจากปิสุณาวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.
(๖) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่งอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะผู้อื่นด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วย ธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากผรุสวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. (๗) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะผู้อื่นด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ ของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่นธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.
อริยสาวกนั้นประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้ารักใคร่แล้ว... เป็นไปเพื่อสมาธิ. พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! เมื่อใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ ด้วยฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดดิรัจฉาน วิสัยแห่งเปรต อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๔๓/๑๔๕๙.

การสนทนากับพระอานนท์ เรื่องกัลยาณมิตร

 การสนทนากับพระอานนท์ เรื่องกัลยาณมิตร

การสนทนากับพระอานนท์ เรื่องกัลยาณมิตร



มหาราชะ ! ครั้งหนึ่ง ตถาคตพักอยู่ที่นิคมแห่งพวกศากยะ ชื่อว่านครกะ ในแคว้นสักกะ. มหาราชะ ! ครั้งนั้นแล ภิกษุอานนท์ได้เข้าไปหาตถาคตถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่ควร. มหาราชะ ! ภิกษุอานนท์ได้กล่าวคำนี้กะตถาคตว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์พระเจ้าข้า !” ดังนี้. มหาราชะ ! เมื่อภิกษุอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว ตถาคตได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า “อานนท์ ! เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย, อานนท์ ! ข้อนี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว คือความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี.

อานนท์ ! พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น เป็นสิ่งที่ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงหวังได้. เมื่อเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนผู้แวดล้อมดี เธอนั้นจักทำอริยมรรคมีองค์แปดให้เจริญได้ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดได้ ดังนี้.


-บาลี สคา. สํ. ๑๕/๑๒๗/๓๘๒.

แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน

 แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน

แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน



อานนท์ ! เราจักแสดง ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ในข้อที่ตนเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว, ในข้อที่ตนเป็นพระโสดาบันผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า ดังนี้. อานนท์ ! ก็ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรมในที่นี้ เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหวในองค์พระพุทธเจ้า... ในองค์พระธรรม... ในองค์พระสงฆ์... และอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า คือ เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ.

อานนท์ ! ธรรมปริยายอันนี้แล ที่ชื่อว่าแว่นธรรมซึ่งหากอริยสาวกผู้ใดได้ประกอบพร้อมแล้ว เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้, ดังนี้แล.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๐/๑๔๗๙ -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๑/๑๔๗๙

เรื่องสัตว์ ๓ สหาย

 เรื่องสัตว์ สหาย

เรื่องสัตว์ ๓ สหาย



[๒๖๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่อง เคยมีมาแล้ว มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งอยู่แถบหิมพานต์ สัตว์ สหายคือ นกกระทา ๑ ลิง ๑ ช้าง ๑ อาศัยต้นไทรใหญ่นั้นอยู่ ทั้งสามสัตว์นั้นมิได้เคารพ มิได้ยำเกรงกัน มีความประพฤติไม่กลมเกลียวกันอยู่ จึงสัตว์ สหายนั้นปรึกษา กันว่า โอ พวกเราทำอย่างไรจึงจะรู้ได้แน่ว่าบรรดาพวกเราผู้ใดเป็นใหญ่โดยกำเนิด พวกเราจะได้สักการะ เคารพ นับถือบูชาผู้นั้น แลจะได้ตั้งอยู่ในโอวาทของผู้นั้นจึงนกกระทาและลิงถามช้างว่า สหายท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง ช้างตอบว่า สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันเดินคร่อมต้นไทรนี้ไว้ ในหว่างขาหนีบได้ยอดไทรพอระท้องฉัน ฉันจำเรื่องเก่าได้ ดังนี้ นกกระทากับช้างถามลิงว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง ลิงตอบว่า สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันนั่งบนพื้นดินเคี้ยวกินยอดไทรนี้ ฉันจำ เรื่องเก่าได้ ดังนี้ ลิงและช้างถามนกกระทาว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง นกกระทาตอบว่า สหายทั้งหลาย ในสถานที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ ฉันกินผล จากต้นไทรใหญ่นั้น แล้วได้ถ่ายมูลไว้ ณ สถานที่นี้ ต้นไทรต้นนี้เกิดจากต้นไทรใหญ่ นั้น เพราะฉะนั้นฉันจึงเป็นใหญ่กว่าโดยกำเนิด ลิงกับช้างได้กล่าวกับนกกระทาว่า บรรดาพวกเรา ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า โดยกำเนิด พวกเราจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาท่านและจะตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นกกระทาได้ให้ลิงกับช้าง สมาทานศีลห้าและตนเอง ก็ประพฤติสมาทานในศีลห้า สัตว์ทั้งสามมีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกร ภิกษุทั้งหลายวัตรจริยานี้แลได้ชื่อว่าติตติริยพรหมจรรย์ ฯ [๒๖] คนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ ย่อมเป็นผู้อันมหาชนสรรเสริญในปัจจุบันนี้ ทั้งสัมปรายภพของ คนเหล่านั้นเป็นสุคติแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย แท้จริงสัตว์เหล่านั้นเป็นดิรัจฉาน ยังมีความเคารพ ยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ การที่พวกเธอเป็นบรรพชิตในธรรม วินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ มีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียว กันอยู่ นั่นจะพึงงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใสของชุมนุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี กรรม การทำสามีจิกรรม อาสนะที่เลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ตามลำดับผู้แก่ กว่า อนึ่ง ภิกษุไม่ควรเกียดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับผู้แก่กว่า รูปใดเกียดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

-พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๗ 
วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒    หน้าที่ ๗๔  ข้อที่ ๒๖๒

ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน

 ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน

ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน



ภิกษุทั้งหลาย ! คงคานที ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศตะวันออก เทไปทางทิศตะวันออก ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเจริญฌานทั้ง ๔ อยู่ กระทำฌานทั้ง ๔ ให้มากอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน ฉันนั้นก็เหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเจริญฌานทั้ง ๔ อยู่ กระทำฌานทั้ง ๔ ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตก วิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอก ผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็น ผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่; เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัส และโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล ภิกษุเจริญฌานทั้ง ๔ อยู่ กระทำฌานทั้ง ๔ ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน.


-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๒/๑๓๐๑.

เหตุในการให้ทาน (นัยที่ ๓)

 เหตุในการให้ทาน (นัยที่ ๓)

เหตุในการให้ทาน



ภิกษุทั้งหลาย ! กาลทาน ๕ ประการเหล่านี้มีอยู่ ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ

(๑) ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน

(๒) ให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป

(๓) ให้ทานแก่ผู้ป่วยไข้

(๔) ให้ทานในสมัยข้าวยากหมากแพง

(๕) ให้ข้าวใหม่และผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีลก่อน

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล กาลทาน ๕ ประการ. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ผู้มีปัญญารอบรู้และปราศจากความตระหนี่ ย่อมถวายทานตามกาลสมัยในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ประพฤติตรงคงที่ เมื่อมีใจเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ทักษิณาย่อมมีผลอันไพบูลย์ ชนทั้งหลายเหล่าใดร่วมอนุโมทนา หรือช่วยกระทำการขวนขวายในทานนี้

ทักษิณานั้นมิได้พร่องไปด้วยเหตุแห่งอนุโมทนานั้นเลย แม้ชนผู้ร่วมอนุโมทนา ก็มีส่วนแห่งบุญด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่มีจิตท้อถอยในทาน ทานนั้นย่อมมีผลมาก บุญที่ทำแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในกาลข้างหน้าได้แล. (ในคาถาผนวกท้ายพระสูตรนั้น มีบาลีอย่างนี้) กาเล ทะทันติ สัปปัญญา วะทัญญู วีตะมัจฉะรา, กาเลนะ ทินนัง อะริเยสุ อุชุภูเตสุ ตาทิสุ, วิปปะสันนะมะนา ตัสสะ วิปุลา โหติ ทักขิณา, เย ตัตถะ อนุโมทันติ เวยยาวัจจัง กะโรนติ วา, นะ เตนะ ทักขิณา โอนา, เตปิ ปุญญัสสะ ภาคิโน, ตัส๎มา ทะเท อัปปะฏิวาณะจิตโต ยัตถะ ทินนัง มะหัปผะลัง, ปุญญานิ ปะระโลกัส๎มิง ปะติฏฐา โหนติ ปาณินันติ.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๔/๓๖.

เลือด ที่เคยสูญเสีย

 เลือด ที่เคยสูญเสีย

เลือด ที่เคยสูญเสีย



ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โลหิตที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า โลหิตที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมา ซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! สาธุ สาธุ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว โลหิตที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้ นี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นโค ซึ่งถูกตัดศีรษะตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.... เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นกระบือ ... เกิดเป็นแกะ ... เกิดเป็นแพะ ... เกิดเป็นเนื้อ ... เกิดเป็นสุกร ... เกิดเป็นไก่ ซึ่งถูกตัดศีรษะตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย     ... เมื่อเธอทั้งหลายถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรฆ่าชาวบ้าน ... ถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่าเป็นโจรคิดปล้น ... ถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.         ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัดพอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๒๑/๔๔๕.

การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก

 การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก

การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก



    ภิกษุทั้งหลาย!  การมาปรากฏของบุคคลเอก (ไม่มี ใครซ้ำสอง) มีได้ยากในโลก. ใครเล่า เป็นบุคคลเอก? ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง เป็นบุคคลเอก (ไม่มีใคร ซ้ำสอง). ภิกษุทั้งหลาย!  การมาปรากฏของบุคคลเอกนี้แล มีได้ยากในโลก. ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้น จึงเกิดมีของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี สี่อย่างนี้ปรากฏขึ้น. สี่อย่างอะไรเล่า ?

    (๑) ภิกษุทั้งหลาย!  ประชาชนทั้งหลาย พอใจใน กามคุณ ยินดีในกามคุณ บันเทิงอยู่ในกามคุณ, ครั้นตถาคต แสดง ธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุทั้งหลาย! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่หนึ่ง, มีขึ้นมาเพราะ การบังเกิดของตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ. 

    (๒) ภิกษุทั้งหลาย!  ประชาชนทั้งหลาย พอใจใน การถือตัว ยินดีในการถือตัว บันเทิงอยู่ในการถือตัว, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดการถือตัว ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุทั้งหลาย! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สอง, มีขึ้นมาเพราะ การบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

    (๓) ภิกษุทั้งหลาย!  ประชาชนทั้งหลาย พอใจใน ความวุ่นวายไม่สงบ ยินดีในความวุ่นวายไม่สงบ บันเทิงอยู่ ในความวุ่นวายไม่สงบ, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่เป็นไป เพื่อความสงบ ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุทั้งหลาย!  นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สาม, มีขึ้นมาเพราะการบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

    (๔) ภิกษุทั้งหลาย!  ประชาชนทั้งหลาย ประกอบ อยู่ด้วยอวิชชา เป็นคนบอด ถูกความมืดครอบงำ เอาแล้ว, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดอวิชชา ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุทั้งหลาย! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สี่, มีขึ้นมาเพราะ การบังเกิดของตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

    -บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๙/๑๔๐, -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๗/๑๒๘.

นาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน

 นาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน

นาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน



    ก็โดยสมัยนั้นแล นาคตัวหนึ่งอึดอัด ระอา เกลียดกำเนิดนาค นาคนั้นได้มีความดำริว่า ด้วยวิธีอะไรหนอ เราจึงจะพ้นจากกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน. ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบวชในสำนักสมณะเชื้อสายศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้ เราก็จะพ้นจากกำเนิดนาคและกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน. ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบทสมัยต่อมา พระนาคนั้นอาศัยอยู่ในวิหารสุดเขตกับภิกษุรูปหนึ่ง. ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี ภิกษุรูปนั้น ตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ครั้นภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจจำวัด วิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง. ครั้นภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูด้วยตั้งใจจักเข้าวิหาร ได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู เห็นขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง ก็ตกใจ จึงร้องเอะอะขึ้น.

ภิกษุทั้งหลายพากันวิ่งเข้าไปแล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า “อาวุโส ท่านร้องเอะอะไปทำไม ?” ภิกษุรูปนั้นบอกว่า “อาวุโสทั้งหลาย วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง” ขณะนั้น พระนาคนั้นได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน. ภิกษุทั้งหลายถามว่า “อาวุโส ท่านเป็นใคร ?” น. “ผมเป็นนาค ขอรับ” ภิ. “อาวุโส ท่านได้ทำเช่นนี้เพื่อประสงค์อะไร ?” พระนาคนั้นจึงแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทนี้แก่นาคนั้นว่า :- “พวกเจ้าเป็นนาค มีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถในวันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นแหละ ด้วยวิธีนี้ เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน”. ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้ เป็นธรรมดา ก็เสียใจหลั่งน้ำตา ส่งเสียงดังแล้วหลีกไป.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค มีสองประการนี้คือ :- เวลาเสพเมถุนธรรมกับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน ๑ เวลาวางใจนอนหลับ ๑ ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค ๒ ประการ. ภิกษุทั้งหลาย ! อนุปสัมบัน คือ สัตว์เดรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว ต้องให้สึกเสีย.

-บาลี มหา. วิ. ๔/๑๗๕/๑๒๗

ทำดี ได้ดี

 ทำดี ได้ดี

ทำดีได้ดี



มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย.     มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก.         มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก.         มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง.         มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๗/๕๘๓.