ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

 ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

พระจัดดอกไม้



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอได้เห็นท่อนไม้ใหญ่นั้น ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม่น้ำคงคา หรือไม่ ? “ได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า !” ภิกษุทั้งหลายกราบทูล. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าท่อนไม้นั้น จะไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งในหรือฝั่งนอก, ไม่จมเสียในท่ามกลางน้ำ, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้, ท่อนไม้เช่นที่กล่าวนี้ จักลอยไหลพุ่งไปสู่ทะเล เพราะเหตุว่า ลำแม่น้ำคงคา โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่ทะเล. ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้น : ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน, ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอก, ไม่จมเสียในท่ามกลาง, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้, พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่า สัมมาทิฏฐิ มีธรรมดาที่โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่นิพพาน.

ครั้นสิ้นกระแสพระดำรัสแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นฝั่งในหรือฝั่งนอก ? อะไรชื่อว่าจมในท่ามกลาง ? อะไรชื่อว่าขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก ? อะไรชื่อว่าถูกมนุษย์จับไว้ ? อะไรชื่อว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ? อะไรชื่อว่าถูกเกลียวน้ำวนวนไว้ ? อะไรชื่อว่าเน่าเสียเองในภายใน ?” ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่า “ฝั่งใน” เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖. คำว่า “ฝั่งนอก” เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖. คำว่า “จมเสียในท่ามกลาง” เป็นชื่อของ นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยความเพลิน). คำว่า “ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก” เป็นชื่อของ อัส๎มิมานะ (ความสำคัญว่า เรามี เราเป็น). คำว่า “ถูกมนุษย์จับไว้” ได้แก่ ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ระคนด้วยพวกคฤหัสถ์ เพลิดเพลินด้วยกัน, โศกเศร้าด้วยกัน, มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข, เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน : ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกมนุษย์จับไว้. คำว่า “ถูกอมนุษย์จับไว้” ได้แก่ ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง ว่า “ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้ หรือว่าด้วยตบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ : ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกอมนุษย์จับไว้. คำว่า “ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้” เป็นชื่อของ กามคุณ ๕. “ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน” คืออย่างไรเล่า ? คือภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้ว ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายใน แล. -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓/๓๒๒.

ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น

 ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น

กรุงราชคฤห์



“ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมได้กล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ องค์ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง หรือว่าบางองค์ไม่ได้บรรลุ ?” พราหมณ์คณกโมคคัลลานะ ทูลถาม. พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ. “พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, หนทางเป็นที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, พระโคดมผู้ชักชวน (เพื่อการดำเนินไป) ก็ยังตั้งอยู่, ทำไมน้อยพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ?”. พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านจงตอบตามควร, ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ, มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์ เข้ามาหาและกล่าวกับท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปเมืองราชคฤห์ แก่ข้าพเจ้าเถิด”. ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษนั้นว่า “มาซิท่าน, ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้านชื่อโน้น แล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าอันน่ารื่นรมย์จักเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์” ดังนี้. บุรุษนั้น อันท่านพร่ำบอก พร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลังตรงข้ามไป, ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง (อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้อย่างเดียวกัน) ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี. พราหมณ์ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่เมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, ท่านผู้ชี้บอก ก็ยังตั้งอยู่, แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลังไปผิดทาง, ส่วนบุรุษผู้หนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ? “พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”. พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้น, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, เราผู้ชักชวน ก็ยังตั้งอยู่, แต่สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ. พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้เราจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะเราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๘๕/๑๐๑.

การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด

 การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด

ปล่อยไป ตามเหตุ



อานนท์ ! เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ
เราลำบากกายนัก, จักนอน     (ประทับสีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ, ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น; เพื่อบูชาตถาคตเจ้า). อานนท์ ! การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่. อานนท์ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติ ตามธรรมอยู่; ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด. อานนท์ ! เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า “เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.

ตถาคตสอนเรื่องทุกข์ และความดับไม่เหลือของทุกข์

ตถาคตสอนเรื่องทุกข์ และความดับไม่เหลือของทุกข์

การวางจิตแบบพระพุทธเจ้า เมื่อมีเวทนา



ภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เรามีถ้อยคำอย่างนี้ มีการกล่าวอย่างนี้ สมณะและพราหมณ์บางพวก ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จเปล่าๆ อันไม่มีจริง ไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความไม่มี ของสัตว์ที่มีอยู่ขึ้นสั่งสอน ดังนี้. 

ภิกษุทั้งหลาย เราจะกล่าวอย่างใด หรือไม่กล่าวอย่างใดก็ตาม สมณะและพราหมณ์บางพวกเหล่านั้น ก็ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จเปล่าๆ อันไม่มีจริง ไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความไม่มีของสัตว์ที่มีอยู่ขึ้นสั่งสอน ดังนี้. 

ภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องของทุกข์ และความดับของทุกข์ เท่านั้น. 

ภิกษุทั้งหลาย ในการกล่าวแต่เรื่องของทุกข์และความดับของทุกข์เช่นนี้ แม้จะมีใครด่าว่า บริภาษ โกรธเคือง เบียดเบียน กระทบกระเทียบ ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความขุ่นเคือง ไม่มีความไม่ชอบใจเพราะเหตุนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง แม้จะมีใครมาสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคตก็ไม่มีความยินดี ไม่มีความโสมนัส หรือเคลิ้มใจไปตาม ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีใครมาสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคตย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างไร บัดนี้เราก็ต้องทำความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างนั้น ดังนี้.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๒๗๘/๒๘๖.

อานาปานสติระงับได้ซึ่งอกุศลทั้งหลาย

 อานาปานสติระงับได้ซึ่งอกุศลทั้งหลาย

โปรดระวังฝุ่นในใจ



(ทรงปรารภเหตุที่ภิกษุทั้งหลายได้ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เนื่องจากเกิดความอึดอัดระอา เกลียดกายของตน เพราะการปฏิบัติอสุภภาวนา จึงได้ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิแก่ภิกษุเหล่านั้น) ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป อันเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน ฝนหนักที่ผิดฤดูตกลงมา ย่อมทำฝุ่นธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะ, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ก็เป็นของระงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะได้ ฉันนั้น. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๒.

เจริญอานาปานสติชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน

 เจริญอานาปานสติชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน

เชิญเจริญอานาปานสติ



ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุ เจริญอานาปานสติ แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดาปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสตินั้นเล่า. -บาลี เอก. อํ. ๒๐/๕๔/๒๒๔.

อานาปานสติระงับได้ซึ่งอกุศลทั้งหลาย


(ทรงปรารภเหตุที่ภิกษุทั้งหลายได้ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เนื่องจากเกิดความอึดอัดระอา เกลียดกายของตน เพราะการปฏิบัติอสุภภาวนา จึงได้ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิแก่ภิกษุเหล่านั้น) ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป อันเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน ฝนหนักที่ผิดฤดูตกลงมา ย่อมทำฝุ่นธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะ, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ก็เป็นของระงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะได้ ฉันนั้น. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๒.

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง
สัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ

วิสาขบูชา


ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “สัมมาสัมพุทธะ”. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ก็หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “ปัญญาวิมุตติ”. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ได้ตรัสไว้ มีข้อความแสดงหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ด้วยกันทั้งสองพวกแล้ว, อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน อะไรเป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่าง ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ ให้มีคนรู้, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าว ให้เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว, ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค), เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค), เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค); ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้ เป็น มัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ.

    -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๘๑/๑๒๕.

บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก

 บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก

คนรุ่นเก่าทำตัวน่ารักให้เด็กไหว้



[๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้คือ

อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ๑

ไม่ควรไหว้ อนุปสัมบัน ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที ๑

ไม่ควรไหว้ มาตุคาม ๑

ไม่ควรไหว้ บัณเฑาะก์ ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ควรมานัต ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ประพฤติมานัต ๑

ไม่ควรไหว้ ภิกษุผู้ควรอัพภาน ๑

บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล อันภิกษุไม่ควรไหว้

บุคคลที่ควรไหว้ ๓ จำพวก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือ

ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ๑

ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที ๑

ควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกใน หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

บุคคล ๓ จำพวกนี้แล ภิกษุควรไหว้ ฯ


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๗๕ ข้อที่ ๒๖๔

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

 เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

คืนกล่องคืนจานสาวกภาษิต



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา,   เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้.  ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา); จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล. 


-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.

ภิกษุบริษัทที่เป็นเนื้อนาบุญของโลก

 ภิกษุบริษัทที่เป็นเนื้อนาบุญของโลก

ที่หยุด



[๒๘๔] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ใน ราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า     ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย     ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้     ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก และถวายของมากมีผลมากยิ่งขึ้น     ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท อันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น     ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควรที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ๆ ฯ พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์  หน้าที่ ๑๕๓ ข้อที่ ๒๘๔