เหตุในการให้ทาน (นัยที่ ๓)
ภิกษุทั้งหลาย ! กาลทาน ๕ ประการเหล่านี้มีอยู่ ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน
(๒) ให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป
(๓) ให้ทานแก่ผู้ป่วยไข้
(๔) ให้ทานในสมัยข้าวยากหมากแพง
(๕) ให้ข้าวใหม่และผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีลก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล กาลทาน ๕ ประการ. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ผู้มีปัญญารอบรู้และปราศจากความตระหนี่ ย่อมถวายทานตามกาลสมัยในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ประพฤติตรงคงที่ เมื่อมีใจเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ทักษิณาย่อมมีผลอันไพบูลย์ ชนทั้งหลายเหล่าใดร่วมอนุโมทนา หรือช่วยกระทำการขวนขวายในทานนี้
ทักษิณานั้นมิได้พร่องไปด้วยเหตุแห่งอนุโมทนานั้นเลย แม้ชนผู้ร่วมอนุโมทนา ก็มีส่วนแห่งบุญด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่มีจิตท้อถอยในทาน ทานนั้นย่อมมีผลมาก บุญที่ทำแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในกาลข้างหน้าได้แล. (ในคาถาผนวกท้ายพระสูตรนั้น มีบาลีอย่างนี้) กาเล ทะทันติ สัปปัญญา วะทัญญู วีตะมัจฉะรา, กาเลนะ ทินนัง อะริเยสุ อุชุภูเตสุ ตาทิสุ, วิปปะสันนะมะนา ตัสสะ วิปุลา โหติ ทักขิณา, เย ตัตถะ อนุโมทันติ เวยยาวัจจัง กะโรนติ วา, นะ เตนะ ทักขิณา โอนา, เตปิ ปุญญัสสะ ภาคิโน, ตัส๎มา ทะเท อัปปะฏิวาณะจิตโต ยัตถะ ทินนัง มะหัปผะลัง, ปุญญานิ ปะระโลกัส๎มิง ปะติฏฐา โหนติ ปาณินันติ.
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๔/๓๖.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น