ความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยสาวก ผู้ได้อรูปสัญญา

ความแตกต่างระหว่างปุถุชน กับ อริยสาวก

ผู้ได้อรูปสัญญา


ความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยสาวก ผู้ได้อรูปสัญญา


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีอยู่ในโลก หาได้ในโลก. ๓ จำพวก อย่างไรเล่า ? คือ :- (๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียได้โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า อากาศไม่มีที่สุด ดังนี้ แล้วแลอยู่ เขาย่อมชอบใจธรรมนั้น ปรารถนาธรรมนั้น และถึงความยินดีด้วยธรรมนั้น เขาดำรงอยู่ในธรรมนั้น น้อมใจไปในธรรมนั้น อยู่มากด้วยธรรมนั้น ไม่เสื่อมจากธรรมนั้น เมื่อทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่าเทวดาที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอายุประมาณสองหมื่นกัป ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอากาสานัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดเดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอากาสานัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ในเมื่อคติอุบัติยังมีอยู่. (๒) อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะผ่านพ้นอากาสานัญจายตนะเสียได้ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด” เขาย่อมชอบใจธรรมนั้น ปรารถนาธรรมนั้น และถึงความยินดีด้วยธรรมนั้น เขาดำรงอยู่ในธรรมนั้น น้อมใจไปในธรรมนั้น อยู่มากด้วยธรรมนั้น ไม่เสื่อมจากธรรมนั้น เมื่อทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่าเทวดาที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะมีอายุประมาณสี่หมื่นกัป ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นวิญญาณัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดเดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นวิญญานัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ในเมื่อคติอุบัติยังมีอยู่. (๓) อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะผ่านพ้นวิญญาณัญจายตนะเสียได้ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อะไรๆไม่มี” เขาย่อมชอบใจธรรมนั้น ปรารถนาธรรมนั้น และถึงความยินดีด้วยธรรมนั้น เขาดำรงอยู่ในธรรมนั้น น้อมใจไปในธรรมนั้น อยู่มากด้วยธรรมนั้น ไม่เสื่อมจากธรรมนั้น เมื่อทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่าเทวดาที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะมีอายุประมาณหกหมื่นกัป ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดเดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ในเมื่อคติอุบัติยังมีอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีอยู่ในโลก หาได้ในโลก.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๔๓/๕๕๖.

ทรงแสดงธรรมเพราะเห็นความจำเป็นของสัตว์บางพวก

ทรงแสดงธรรมเพราะเห็นความจำเป็น

ของสัตว์บางพวก


ทรงแสดงธรรมเพราะเห็นความจำเป็นของสัตว์บางพวก


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตามได้ฟังหรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ก็หาเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมได้ไม่. แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตามได้ฟังหรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ย่อมเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้โดยแท้. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ต่อเมื่อได้เห็นตถาคตหรือได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้ ถ้าไม่ได้เห็นตถาคต หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมไม่เข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้เลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบุคคล ๓ ประเภทนั้น มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งต่อเมื่อได้เห็นตถาคตหรือได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงจะเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้, ถ้าไม่ได้เห็นตถาคต หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมไม่เข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้เลย. เราเพราะเห็นแก่บุคคลประเภทนี้แหละ จึงอนุญาตให้มีการแสดงธรรม. และเพราะอาศัยบุคคลประเภทนี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย.

บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๕๒/๔๖๑.

ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม

ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม


สหัมบดีพรหม


ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมอันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม, เป็นธรรมระงับและประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงง่าย ๆ แห่งความตรึก เป็นของละเอียดเป็นวิสัยรู้ได้เฉพาะบัณฑิต, ก็สัตว์เหล่านี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เพลิดเพลินแล้วในอาลัย, สำหรับสัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลินในอาลัยนั้น, ยากนักที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทอันมีสิ่งนี้ (คือมีอาลัย) เป็นปัจจัย, ยากนักที่จะเห็นธรรมเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง, คือ ธรรมอันถอนอุปธิทั้งสิ้น ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ และนิพพาน. หากเราพึงแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่าแก่เรา, เป็นความลำบาก แก่เรา.” โอ, ราชกุมาร ! คาถาอันน่าเศร้าเหล่านี้ที่ เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า :-
“กาลนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุได้แล้วโดยยาก. ธรรมนี้, สัตว์ที่ถูกราคะโทสะรวบรัดแล้ว ไม่รู้ได้โดยง่ายเลย. สัตว์ที่กำหนัด ด้วยราคะ ถูกกลุ่มมืดห่อหุ้มแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันให้ถึงที่ทวนกระแส, อันเป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู”. ดังนี้. ราชกุมาร ! เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้, จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม. พรหมอาราธนา ราชกุมาร ! ครั้งนั้น ความรู้สึกข้อนี้ ได้บังเกิดขึ้นแก่สหัมบดีพรหมเพราะเธอรู้ความปริวิตกในใจของเราด้วยใจ. ความรู้สึกนั้นว่า “ผู้เจริญ ! โลกจักฉิบหายเสียแล้วหนอ ผู้เจริญ ! โลกจักพินาศเสียแล้วหนอ, เพราะเหตุที่จิตแห่งพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย, ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม” ดังนี้. ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมได้อันตรธานจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา รวดเร็วเท่าเวลาที่บุรุษแข็งแรง เหยียดแขนออกแล้วงอเข้าเท่านั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ แล้วกล่าวคำนี้กะเราว่า “พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ข้าพระองค์เถิด, ขอพระสุคตจงแสดงธรรมเถิด, สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย ก็มีอยู่, เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม. สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้” ดังนี้. ราชกุมาร ! สหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว ยังได้กล่าวคำอื่นสืบไปอีก (เป็นคาถา) ว่า :-
“ธรรมไม่บริสุทธิ์ ที่คนมีมลทิน ได้คิดขึ้น, ได้มีปรากฏอยู่ในแคว้นมคธแล้ว, สืบมาแต่ก่อน; ขอพระองค์จงเปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย. สัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรม ที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้วเถิด. คนยืนบนยอดชะง่อนเขา เห็นประชุมชน ได้โดยรอบ ฉันใด; ข้าแต่พระผู้มีเมธาดี ! ผู้มีจักษุเห็นโดยรอบ ! ขอพระองค์จงขึ้นสู่ ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม, จักเห็นหมู่สัตว์ผู้เกลื่อนกล่นด้วยโศก ไม่ห่างจาก ความโศก ถูกชาติชราครอบงำ, ได้ฉันนั้น. จงลุกขึ้นเถิด พระองค์ผู้วีระ ! ผู้ชนะสงครามแล้ว ! ผู้ขนสัตว์ด้วยยานคือเกวียน ! ผู้ไม่มีหนี้สิน ! ขอพระองค์ จงเที่ยวไปในโลกเถิด. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่” ดังนี้. ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ ท. ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด, ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-
“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ม.ม. ๑๓/๔๖๑/๕๐๙.
บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๒/๕๑๐.
บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.

การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด

การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด


ทุกข์ที่เกิดจากหนี้


ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม มีอยู่แก่ผู้ใด เรากล่าวบุคคลผู้นั้น ว่าเป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติในอริยวินัย. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขานี้ ว่าเป็นการกู้หนี้. เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตของเขา เขาตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา เรากล่าวการปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้. เพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภเขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ ทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้” เรากล่าวการถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกทวงหนี้. เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันเป็นบาปประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อมเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา เรากล่าวอาการอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกติดตามเพื่อทวงหนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมถูกจองจำอยู่ในนรกบ้าง ในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจำอื่นแม้อย่างเดียว ที่ทารุณอย่างนี้เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดเดรัจฉาน อย่างนี้. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ความยากจน และการกู้หนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ในโลก คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง. การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของคนบูชาการได้กาม ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ สั่งสมแต่บาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิต เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา, ผู้นั้นพอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจนกู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร{๑} อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขาทั้งในบ้านและในป่า คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำอยู่ในนรก การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย. ๑. ๑. ความเดือดร้อนใจ.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๓/๓๑๖.

ความสังเวชเป็นเหตุให้ปรารภความเพียร

ความสังเวชเป็นเหตุให้ปรารภความเพียร

บุรุษอาชาไนย 4 จำพวก








ภิกษุ ท. ! บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวก เหล่านี้ มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก. สี่จำพวก เหล่าไหนเล่า ? สี่จำพวก คือ :- ๑. ภิกษุ ท. ! บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคน ในกรณีนี้ ได้ยินว่า “ในบ้านหรือนิคมโน้น มีหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา” ดังนี้ แล้ว เขาก็สังเวช ถึงความสลดใจเพราะเหตุนั้น ; ครั้นสลดใจแล้ว ก็เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย มีตนส่งไปในแนวธรรมะ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญชนิดนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญที่พอเห็นเงาของปฏักก็สังเวชถึงความสลดใจ ฉะนั้น. ๒. ภิกษุ ท. ! จำพวกอื่นยังมีอีก : บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในกรณีนี้ ไม่ได้ยินว่า ในบ้านหรือนิคมโน้น มีหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยา, แต่เขาได้เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยาด้วยตนเอง เขาก็สังเวชถึงความสลดใจเพราะเหตุนั้น ; ครั้นสลดใจแล้ว ก็เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย มีตนส่งไปในแนวธรรมมะ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญชนิดนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ถูกเขาแทงด้วยปฏักที่ขุมขนแล้ว ก็สังเวชถึงความสลดใจ ฉะนั้น.
๓. ภิกษุ ท. ! จำพวกอื่นยังมีอีก : บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในกรณีนี้ ไม่ได้ยินว่า ในบ้านหรือนิคมโน้น มีหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยา, ทั้งเขาไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยาด้วยตนเอง, แต่ญาติหรือสาโลหิตของเขาเป็นผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยา เขาก็สังเวชถึงความสลดใจเพราะเหตุนั้น ; ครั้นสลดใจแล้ว ก็เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย มีตนส่งไปในแนวธรรมะ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญชนิดนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ถูกเขาแทงด้วยปฏักที่หนังก็สังเวชถึงความสลดใจ ฉะนั้น. ๔. ภิกษุ ท. ! จำพวกอื่นยังมีอีก : บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนใน กรณีนี้ ไม่ได้ยินว่า ในบ้านหรือนิคมโน้น มีหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยา และเขาไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยาด้วยตนเอง, ทั้งญาติหรือสาโลหิตของเขาเป็นผู้ถึงความทุกข์หรือทำกาลกิริยา แต่ว่าเขาเองถูกต้องแล้วด้วยทุกขเวทนาที่เป็นไปในสรีระ ซึ่งกล้าแข็ง แสบเผ็ดไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะนำชีวิตไปเสีย เขาก็สังเวชถึงความสลดใจเพราะเหตุนั้น; ครั้นสลดใจแล้ว ก็เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย มีตนส่งไปในแนวธรรมะ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญชนิดนี้ ว่ามีอุปมาเหมือน ม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ถูกเขาแทงด้วยปฏักถึงกระดูก ก็สังเวชถึงความสลดใจ ฉะนั้น. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจิญ ๔ จำพวก ซึ่งมีอยู่หาได้ อยู่ในโลก. - จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๕๔/๑๑๓.

บทสวดระลึกถึงพระธรรม + เหตุให้ศาสนาเสื่อม

บทสวดระลึกถึงพระธรรม


บทสวดระลึกถึงพระธรรม


ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง อะกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด โอปะนะยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๗/๑๔๑๒.

เหตุให้ศาสนาเสื่อม


ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. ๔ ประการ อะไรบ้างเล่า ? ๔ ประการคือ :- (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุ เล่าเรียนสูตร อันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด; เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สอง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่บอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลายก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก (อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุชั้นเถระ ทำการสะสมบริกขาร ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ผู้บวชในภายหลังได้เห็นพวกเถระเหล่านั้นทำแบบแผนเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง จึงทำให้เป็นผู้ทำการสะสมบริกขารบ้าง ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ตามกันสืบไป.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สี่ ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ


จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอเป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง
เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม; ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง. ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ? สี่ประการคือ :-
ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่อง
กระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.

เรื่องสวดพระธรรมด้วยทำนอง

เรื่องสวดพระธรรมด้วยทำนอง

เรื่องสวดพระธรรมด้วยทำนอง


สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ชาวบ้าน
เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ เหมือนพวกเราขับ ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ
ติเตียนโพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ...ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้สวดพระธรรม ด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ... จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่ง
กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ
มีโทษ ๕ ประการนี้ คือ: ๑. ตนยินดีในเสียงนั้น ๒. คนอื่นก็ยินดีในเสียงนั้น ๓. ชาวบ้านติเตียน ๔. สมาธิของผู้พอใจการทำเสียงย่อมเสียไป ๕. ภิกษุชั้นหลังจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้แล ของภิกษุผู้สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวด
ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๗
วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒    หน้าที่ ๖    ข้อที่ ๑๙ - ๒๐

วิญญาณ ตั้งอยู่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูป ก็มีอยู่ในที่นั้น (อุปมาด้วยแสงกับฉาก)

วิญญาณ ตั้งอยู่ได้ในที่ใด

การก้าวลงแห่งนามรูป ก็มีอยู่ในที่นั้น

(อุปมาด้วยแสงกับฉาก)


ถ้าฝาเรือนไม่มี





อุปมาด้วยแสงกับฉาก


     ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เป็นไปเพื่อ ความดำรงอยู่ของสัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่ เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้นมีอะไรบ้าง คือ
     กวฬีการาหาร(อาหารคือคำข้าว) ที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
     อาหารที่สองคือ ผัสสะ
     อาหารที่สามคือ มโนสัญเจตนา
     อาหารที่สี่คือ วิญญาณ
     ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แลอาหาร ๔ อย่าง เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหาร คือคำข้าวแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ใน อาหารคือคำข้าวนั้น วิญญาณตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูป
(นามรูปสฺส อวกฺกนฺติ) ก็มีใน ที่นั้น การก้าวลงแห่งนามรูปมีในที่ใด ความเจริญแห่งสังขาร ทั้งหลายก็มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายมีในที่ใด การเกิดในภพใหม่ต่อไปก็มีในที่นั้น การเกิดในภพใหม่ต่อไป มีในที่ใด ชาติ ชราและมรณะต่อไปก็มีในที่นั้น ชาติ ชราและ มรณะต่อไปมีในที่ใด เราเรียกที่นั้นว่า เป็นที่มีความโศก มีธุลี และมีความคับแค้น. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือ ผัสสะแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหาร คือผัสสะนั้น วิญญาณตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็มีในที่นั้น… เราเรียกที่นั้นว่า เป็นที่มี ความโศก มีธุลี และมีความคับแค้น. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือ มโนสัญเจตนาแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือมโนสัญเจตนานั้น วิญญาณตั้งอยู่ได้ เจริญ งอกงามอยู่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็มีในที่นั้น… เราเรียกที่นั้นว่า เป็นที่มีความโศก มีธุลี และมีความคับแค้น. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหาร คือวิญญาณแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือวิญญาณนั้น วิญญาณตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงาม อยู่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็มีในที่นั้น การก้าวลง แห่งนามรูปมีในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายก็มีใน ที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายมีในที่ใด การเกิดในภพใหม่ต่อไปก็มีในที่นั้น การเกิดในภพใหม่ต่อไปมีในที่ใด ชาติ ชราและมรณะต่อไปก็มีในที่นั้น ชาติ ชราและมรณะ ต่อไปมีในที่ใด เราเรียกที่นั้นว่า เป็นที่มีความโศก มีธุลี และ มีความคับแค้น. 
     ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อมีน้ำย้อม คือ ครั่ง ขมิ้น สีเขียว หรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนก็สามารถ เขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ ลงที่แผ่นกระดาน หรือฝาผนัง หรือที่ผืนผ้าซึ่งเกลี้ยงเกลาได้ครบทุกส่วน แม้ฉันใด
     ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือคำข้าวแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือคำข้าวนั้น วิญญาณตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็มีในที่นั้น … เราเรียกที่นั้นว่า เป็นที่มีความโศก มีธุลี และมีความคับแค้น. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือ ผัสสะแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหาร คือผัสสะนั้น … ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหารคือ มโนสัญเจตนาแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือมโนสัญเจตนานั้น …
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในอาหาร คือวิญญาณแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้ ในอาหารคือวิญญาณนั้น … 
     ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลา เรือนยอด มีหน้าต่างทางทิศตะวันออกอันเปิดไปทาง ทิศเหนือ หรือทิศใต้ก็ตาม เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นมา แสงสว่าง (รสฺมิ)แห่งดวงอาทิตย์ส่องเข้าไปทางหน้าต่างแล้ว จะปรากฏ อยู่ที่ส่วนไหนแห่งเรือนนั้น. 
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะปรากฏที่ฝาเรือน ด้านทิศตะวันตก พระเจ้าข้า. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาเรือนด้านทิศตะวันตกไม่มี แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จะปรากฏที่ไหน. 
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพื้นดินไม่มี แสงสว่างแห่ง ดวงอาทิตย์นั้น จะปรากฏที่ไหน. 
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะปรากฏในน้ำ พระเจ้าข้า. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มี แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จะปรากฏที่ไหน. 
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น ย่อมเป็น สิ่งที่ไม่ปรากฏแล้ว พระเจ้าข้า.
     ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น ถ้าไม่มีราคะ ไม่มี นันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือคำข้าวแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ ไม่ได้ เจริญงอกงามไม่ได้ในอาหารคือคำข้าวนั้น วิญญาณ ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามไม่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่ง นามรูปก็ไม่มีในที่นั้น การก้าวลงแห่งนามรูปไม่มีในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายก็ไม่มีในที่นั้น ความเจริญ แห่งสังขารทั้งหลายไม่มีในที่ใด การเกิดในภพใหม่ต่อไปก็ ไม่มีในที่นั้น การเกิดในภพใหม่ต่อไปไม่มีในที่ใด ชาติ ชรา และมรณะต่อไปก็ไม่มีในที่นั้น ชาติ ชราและมรณะต่อไปไม่มี ในที่ใด เราเรียกที่นั้นว่า เป็นที่ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี และ ไม่มีความคับแค้น. 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือผัสสะแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงาม ไม่ได้ในอาหารคือผัสสะนั้น วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงาม ไม่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูป ก็ไม่มีในที่นั้น … 
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือมโนสัญเจตนาแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามไม่ได้ในอาหารคือมโนสัญเจตนานั้น วิญญาณ ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามไม่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูป ก็ไม่มีในที่นั้น …
     ภิกษุทั้งหลาย ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือวิญญาณแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญ งอกงามไม่ได้ในอาหารคือวิญญาณนั้น วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามไม่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็ไม่มีใน ที่นั้น การก้าวลงแห่งนามรูปไม่มีในที่ใด ความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลายก็ไม่มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด การเกิดในภพใหม่ต่อไปก็ไม่มีในที่นั้น การเกิด ในภพใหม่ต่อไปไม่มีในที่ใด ชาติ ชราและมรณะต่อไปก็ไม่มี ในที่นั้น ชาติ ชราและมรณะต่อไปไม่มีในที่ใด เราเรียกที่นั้น ว่า เป็นที่ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้น.

     -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๑๒๒/๒๔๕.

นครสูตร

นครสูตร

นครสูตร



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชา ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน
๗ ประการ และหาอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอันตรายปัจจันตนครของพระราชานั้นไม่ได้ เครื่องป้องกัน ๗ ประการเป็นไฉนคือในปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไม่หวั่นไหว นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีคูขุดลึกและกว้าง นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ สำหรับ คุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีทางเดินตามคูได้รอบ ทั้งสูงและกว้างนี้เป็นเครื่องป้องกันนคร ประการที่ ๓ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม นี้เป็น เครื่องป้องกันนครประการที่ ๔ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง ตั้งกองทัพไว้มาก คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธง กองจัดกระบวนทัพ กองสัมภาระ กองเสนาธิการ กองตะลุมบอนเหมือนช้างที่วิ่งเข้าสู่สงคราม กองทหารหาญ กองทหารโลหะ กองเกราะหนัง กองทหารทาส นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๕ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีทหารยามฉลาดสามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้าอนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๖ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีกำแพงทั้งสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดีนี้เป็นเครื่อง ป้องกันนครประการที่ ๗ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ปัจจันตนครมีการป้องกันดี ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้แล ฯ ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการ ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก เป็นไฉน คือในปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีการสะสมข้าวสาลี (ข้าวเจ้า) และข้าวเหนียวไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความ อุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ อีกประการหนึ่ง มีการสะสมเภสัชไว้มาก คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตราย ภายนอก ฯ ปัจจันตนคร หาอาหาร ๔ ประการได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชาป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้ และอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรไม่ทำอันตรายได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในกาลใด อริยสาวกประกอบพร้อมด้วย สัทธรรม ๗ ประการ และเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในกาลนั้น เรากล่าวว่ามารผู้มีบาปทำอันตรายอริยสาวกไม่ได้ สัทธรรม ๗ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียด ขุดหลุมฝังลึก ไม่หวั่นไหว สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีศรัทธาเปรียบเหมือนเสาระเนียด ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษบริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๑ ฯลฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีหิริ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการเข้าถึง อกุศลธรรมอันชั่วช้าลามก เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีคู (สนามเพลาะ) ทั้งลึกและกว้าง สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีหิริเปรียบเหมือนคู ย่อมละอกุศล ... บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๒ ฯ อริยสาวกมีโอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตสะดุ้งกลัวต่อการ เข้าถึงอกุศลธรรมอันชั่วช้าลามก เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีทางเดินตามคูได้รอบ ทั้งสูงและกว้าง สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอกฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีโอตตัปปะเปรียบเหมือนทางเดินตามคู ย่อมละอกุศลธรรม ... ย่อมบริหารตนให้บริสุทธิ์นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๓ ฯ อริยสาวกเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ได้สดับตรับฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเปรียบเหมือนอาวุธ ย่อมละอกุศลธรรม ... บริหารตนให้บริสุทธิ์นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๔ ฯ อริยสาวกปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา ตั้งกองทัพไว้มาก คือพลม้า ฯลฯ กองทหารทาส สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกมีความเพียรเปรียบเหมือนกองทัพ ย่อมละอกุศลธรรม ... บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๕ ฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ย่อมตามระลึกถึงกรรมที่ได้ทำและคำที่ได้พูดแล้วแม้นานได้ เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีทหารยามฉลาด สามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้าอนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสติเปรียบเหมือนทหารยาม ย่อมละอกุศลธรรม... บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๖ ฯ อริยสาวกเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชามีกำแพงทั้งสูงทั้งกว้างพร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี เพื่อคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้มีปัญญาเปรียบเหมือนกำแพงอันพร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๗ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ ฯ อริยสาวกเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นไฉน อริยสาวกสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตนและเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมหญ้า ไม้และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายในและเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ อริยสาวกบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัวเพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพานเปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมข้าวสาลี (ข้าวเจ้า) และข้าวเหนียวไว้มาก เพื่อความอุ่นใจภายใน ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ อริยสาวกมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุ ตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ
อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตนและเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมเภสัชไว้มาก คือ เนยใส เนยข้นน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ อริยสาวกเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ นี้ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ และมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ นี้ อันมีในจิตยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในกาลนั้นแล มารผู้มีบาปก็ทำอันตรายอริยสาวกไม่ได้ ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๘๗   ข้อที่ ๖๔

อะไรคือใบไม้ในป่า อะไรคือใบไม้ในกำมือ

อะไรคือใบไม้ในป่า อะไรคือใบไม้ในกำมือ

อะไรคือใบไม้ในป่า อะไรคือใบไม้ในกำมือ


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำใบไม้สีสปา ที่ร่วงอยู่ตามพื้นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่งแล้ว ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมาก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ใบไม้ที่พระผู้มีพระภาคทรงกำขึ้นหน่อยหนึ่งนั้นเป็นของน้อย ส่วนใบไม้ที่ยังอยู่บนต้นสีสปาเหล่านั้นย่อมมีมาก. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมากล่าวสอน. ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุไรเล่าเราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะอะไรเล่า เป็นธรรมะที่เรากล่าวสอน. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะที่เรากล่าวสอน คือข้อที่ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ เหตุเป็นที่เกิดของความทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ ความดับสนิทของความทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ ข้อปฎิบัติเพื่อถึงความดับสนิทของความทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุไรเล่า ธรรมะส่วนนี้เราจึงนำมากล่าวสอน. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะว่าธรรมะส่วนนี้ ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นแลเราจึงนำมากล่าวสอน.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๘/๑๗๑๒.

การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด

การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด


การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด



ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม มีอยู่แก่ผู้ใด เรากล่าวบุคคลผู้นั้น ว่าเป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติในอริยวินัย. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขานี้ ว่าเป็นการกู้หนี้. เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตของเขา เขาตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา เรากล่าวการปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้.
เพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภเขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ ทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้” เรากล่าวการถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกทวงหนี้. เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันเป็นบาปประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อมเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา เรากล่าวอาการอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกติดตามเพื่อทวงหนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมถูกจองจำอยู่ในนรกบ้าง ในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจำอื่นแม้อย่างเดียว ที่ทารุณอย่างนี้เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดเดรัจฉาน อย่างนี้.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ความยากจน และการกู้หนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ในโลก คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง. การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของคนบูชาการได้กาม ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ สั่งสมแต่บาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิต เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา, ผู้นั้นพอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจนกู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร{๑} อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขาทั้งในบ้านและในป่า คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำอยู่ในนรก การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย. ๑. ๑. ความเดือดร้อนใจ.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๓/๓๑๖.