ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม

ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม


สหัมบดีพรหม


ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมอันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม, เป็นธรรมระงับและประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงง่าย ๆ แห่งความตรึก เป็นของละเอียดเป็นวิสัยรู้ได้เฉพาะบัณฑิต, ก็สัตว์เหล่านี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เพลิดเพลินแล้วในอาลัย, สำหรับสัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลินในอาลัยนั้น, ยากนักที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทอันมีสิ่งนี้ (คือมีอาลัย) เป็นปัจจัย, ยากนักที่จะเห็นธรรมเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง, คือ ธรรมอันถอนอุปธิทั้งสิ้น ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ และนิพพาน. หากเราพึงแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่าแก่เรา, เป็นความลำบาก แก่เรา.” โอ, ราชกุมาร ! คาถาอันน่าเศร้าเหล่านี้ที่ เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า :-
“กาลนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุได้แล้วโดยยาก. ธรรมนี้, สัตว์ที่ถูกราคะโทสะรวบรัดแล้ว ไม่รู้ได้โดยง่ายเลย. สัตว์ที่กำหนัด ด้วยราคะ ถูกกลุ่มมืดห่อหุ้มแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันให้ถึงที่ทวนกระแส, อันเป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู”. ดังนี้. ราชกุมาร ! เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้, จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม. พรหมอาราธนา ราชกุมาร ! ครั้งนั้น ความรู้สึกข้อนี้ ได้บังเกิดขึ้นแก่สหัมบดีพรหมเพราะเธอรู้ความปริวิตกในใจของเราด้วยใจ. ความรู้สึกนั้นว่า “ผู้เจริญ ! โลกจักฉิบหายเสียแล้วหนอ ผู้เจริญ ! โลกจักพินาศเสียแล้วหนอ, เพราะเหตุที่จิตแห่งพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย, ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม” ดังนี้. ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมได้อันตรธานจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา รวดเร็วเท่าเวลาที่บุรุษแข็งแรง เหยียดแขนออกแล้วงอเข้าเท่านั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ แล้วกล่าวคำนี้กะเราว่า “พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ข้าพระองค์เถิด, ขอพระสุคตจงแสดงธรรมเถิด, สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย ก็มีอยู่, เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม. สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้” ดังนี้. ราชกุมาร ! สหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว ยังได้กล่าวคำอื่นสืบไปอีก (เป็นคาถา) ว่า :-
“ธรรมไม่บริสุทธิ์ ที่คนมีมลทิน ได้คิดขึ้น, ได้มีปรากฏอยู่ในแคว้นมคธแล้ว, สืบมาแต่ก่อน; ขอพระองค์จงเปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย. สัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรม ที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้วเถิด. คนยืนบนยอดชะง่อนเขา เห็นประชุมชน ได้โดยรอบ ฉันใด; ข้าแต่พระผู้มีเมธาดี ! ผู้มีจักษุเห็นโดยรอบ ! ขอพระองค์จงขึ้นสู่ ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม, จักเห็นหมู่สัตว์ผู้เกลื่อนกล่นด้วยโศก ไม่ห่างจาก ความโศก ถูกชาติชราครอบงำ, ได้ฉันนั้น. จงลุกขึ้นเถิด พระองค์ผู้วีระ ! ผู้ชนะสงครามแล้ว ! ผู้ขนสัตว์ด้วยยานคือเกวียน ! ผู้ไม่มีหนี้สิน ! ขอพระองค์ จงเที่ยวไปในโลกเถิด. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่” ดังนี้. ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ ท. ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด, ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-
“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ม.ม. ๑๓/๔๖๑/๕๐๙.
บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๒/๕๑๐.
บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น