การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด
ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม มีอยู่แก่ผู้ใด เรากล่าวบุคคลผู้นั้น ว่าเป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติในอริยวินัย.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขานี้ ว่าเป็นการกู้หนี้.
เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตของเขา เขาตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา เรากล่าวการปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้.
เพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภเขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ ทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้” เรากล่าวการถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกทวงหนี้.
เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันเป็นบาปประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อมเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา เรากล่าวอาการอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกติดตามเพื่อทวงหนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมถูกจองจำอยู่ในนรกบ้าง ในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจำอื่นแม้อย่างเดียว ที่ทารุณอย่างนี้เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดเดรัจฉาน อย่างนี้.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ความยากจน และการกู้หนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ในโลก
คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง.
การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของคนบูชาการได้กาม
ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน
ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ สั่งสมแต่บาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิต เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา, ผู้นั้นพอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจนกู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน
ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร{๑} อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขาทั้งในบ้านและในป่า
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำอยู่ในนรก การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย.
๑. ๑. ความเดือดร้อนใจ.
-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๓/๓๑๖.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น