นครสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชา ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน
๗ ประการ และหาอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอันตรายปัจจันตนครของพระราชานั้นไม่ได้
เครื่องป้องกัน ๗ ประการเป็นไฉนคือในปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไม่หวั่นไหว นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีคูขุดลึกและกว้าง นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ สำหรับ
คุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีทางเดินตามคูได้รอบ ทั้งสูงและกว้างนี้เป็นเครื่องป้องกันนคร
ประการที่ ๓ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม นี้เป็น
เครื่องป้องกันนครประการที่ ๔ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง ตั้งกองทัพไว้มาก คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธง
กองจัดกระบวนทัพ กองสัมภาระ กองเสนาธิการ กองตะลุมบอนเหมือนช้างที่วิ่งเข้าสู่สงคราม กองทหารหาญ กองทหารโลหะ กองเกราะหนัง กองทหารทาส นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๕ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีทหารยามฉลาดสามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้าอนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๖ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีกำแพงทั้งสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดีนี้เป็นเครื่อง
ป้องกันนครประการที่ ๗ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ปัจจันตนครมีการป้องกันดี ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้แล ฯ
ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการ ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
เป็นไฉน คือในปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมข้าวสาลี (ข้าวเจ้า) และข้าวเหนียวไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ
ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความ
อุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมเภสัชไว้มาก คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
เกลือ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตราย
ภายนอก ฯ
ปัจจันตนคร หาอาหาร ๔ ประการได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชาป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้ และอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรไม่ทำอันตรายได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในกาลใด อริยสาวกประกอบพร้อมด้วย
สัทธรรม ๗ ประการ และเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในกาลนั้น เรากล่าวว่ามารผู้มีบาปทำอันตรายอริยสาวกไม่ได้ สัทธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียด ขุดหลุมฝังลึก ไม่หวั่นไหว สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีศรัทธาเปรียบเหมือนเสาระเนียด ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษบริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๑ ฯลฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีหิริ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการเข้าถึง
อกุศลธรรมอันชั่วช้าลามก เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีคู (สนามเพลาะ) ทั้งลึกและกว้าง สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีหิริเปรียบเหมือนคู ย่อมละอกุศล ... บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๒ ฯ
อริยสาวกมีโอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตสะดุ้งกลัวต่อการ
เข้าถึงอกุศลธรรมอันชั่วช้าลามก เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีทางเดินตามคูได้รอบ ทั้งสูงและกว้าง สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอกฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีโอตตัปปะเปรียบเหมือนทางเดินตามคู ย่อมละอกุศลธรรม ... ย่อมบริหารตนให้บริสุทธิ์นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๓ ฯ
อริยสาวกเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ได้สดับตรับฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก
ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเปรียบเหมือนอาวุธ ย่อมละอกุศลธรรม ... บริหารตนให้บริสุทธิ์นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๔ ฯ
อริยสาวกปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา ตั้งกองทัพไว้มาก คือพลม้า ฯลฯ กองทหารทาส สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกมีความเพียรเปรียบเหมือนกองทัพ ย่อมละอกุศลธรรม ... บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๕ ฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ย่อมตามระลึกถึงกรรมที่ได้ทำและคำที่ได้พูดแล้วแม้นานได้ เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีทหารยามฉลาด สามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้าอนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสติเปรียบเหมือนทหารยาม ย่อมละอกุศลธรรม... บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๖ ฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชามีกำแพงทั้งสูงทั้งกว้างพร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี เพื่อคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้มีปัญญาเปรียบเหมือนกำแพงอันพร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๗ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ ฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นไฉน อริยสาวกสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตนและเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมหญ้า ไม้และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายในและเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ
อริยสาวกบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัวเพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพานเปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมข้าวสาลี (ข้าวเจ้า) และข้าวเหนียวไว้มาก เพื่อความอุ่นใจภายใน ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ
อริยสาวกมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุ
ตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ
อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตนและเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมเภสัชไว้มาก คือ เนยใส เนยข้นน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น ฯ
อริยสาวกเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ นี้
อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ และมีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ นี้ อันมีในจิตยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในกาลนั้นแล มารผู้มีบาปก็ทำอันตรายอริยสาวกไม่ได้ ฯ
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๘๗ ข้อที่ ๖๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น