ทรงทำหน้าที่พระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว

 ทรงทำหน้าที่พระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว

คิกบ็อกซิ่ง/พุทธไม่นิ่ง



จุนทะ ! ในบัดนี้เราแล เป็นศาสดา บังเกิดขึ้นในโลก เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ, อนึ่ง ธรรม เราได้กล่าวไว้ดีแล้ว ได้ประกาศไว้ดีแล้วเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากห้วงทุกข์ เป็นไปพร้อมเพื่อความสงบรำงับ ชื่อว่าประกาศไว้แล้ว โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, อนึ่ง สาวกทั้งหลาย เราก็ได้สอนให้รู้แล้วในสัทธรรม, พรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิง สำหรับสัตว์เหล่านั้นเราได้กระทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นของหงาย (เข้าใจได้ทันที) ทำให้เป็นบทสงเคราะห์ ทำให้เป็นสิ่งประกอบด้วยความน่าอัศจรรย์ พอเพียงเพื่อให้ประกาศได้ดีด้วย โดยเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (สืบไป) แล้ว. จุนทะ ! ในบัดนี้เราเป็นศาสดาที่แก่เฒ่า รู้ราตรีนาน บวชนาน มีวัยยืดยาวผ่านไปแล้ว โดยลำดับ. จุนทะ ! ในบัดนี้ ภิกษุผู้เถระ ผู้เป็นสาวกของเรา ก็มีอยู่ ล้วนเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้จูงได้ เป็นผู้แกล้วกล้า ลุธรรมเป็นเครื่องเกษมจากโยคะแล้ว; สามารถจะบอกสอนสัทธรรม สามารถข่มขี่ถ้อยคำอันเป็นข้าศึกที่บังเกิดแล้วให้สงบราบคาบโดยธรรม แล้วแสดงธรรมพร้อมทั้งความน่าอัศจรรย์ได้. จุนทะ ! ในบัดนี้ ภิกษุผู้ปูนกลาง, ผู้ใหม่, ผู้เป็นสาวกของเราก็มีอยู่. จุนทะ ! ในบัดนี้ภิกษุณีผู้เถระ, ผู้ปูนกลาง, ผู้ใหม่, ผู้เป็นสาวิกาของเราก็มีอยู่. จุนทะ ! ในบัดนี้ อุบาสก ผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นสาวกของเราก็มีอยู่, ผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มขาว ยังบริโภคกามผู้เป็นสาวกของเราก็มีอยู่. จุนทะ ! ในบัดนี้ อุบาสิกา ผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มขาวประพฤติพรหมจรรย์, และพวกที่ยังบริโภคกาม, ผู้เป็นสาวิกาของเรา ก็มีอยู่. จุนทะ ! ในบัดนี้ พรหมจรรย์ (คือศาสนา) ของเรา มั่งคั่ง เจริญแพร่หลาย เป็นที่รู้จักของมหาชน เป็นปึกแผ่น พอเพื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประกาศได้ด้วยดี (สืบไป) ได้แล้ว.

    -บาลี ปาสาทิกสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๓๗/๑๐๕.

ผู้ทำสัทธรรมให้อันตรธาน นัยที่ ๑

 ผู้ทำสัทธรรมให้อันตรธาน นัยที่ ๑

ไทธรรมเนียม



ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดความสุข ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นย่อมประสบสิ่งไม่ใช่บุญเป็นอันมาก และได้ชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่ใช่ธรรม ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัย ว่าเป็นวินัย ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่ใช่วินัย ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงกรรมอันตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงกรรมอันตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคต ไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตบัญญัติไว้ ...   ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคตได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดความสุข ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นย่อมประสบสิ่งไม่ใช่บุญเป็นอันมาก และได้ชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย. {๑} ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท (สงฆ์แตกกัน) สังฆเภท (สงฆ์แตกกัน) ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า. อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (๑) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม (๒) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่ใช่ธรรม (๓) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัย ว่าเป็นวินัย (๔) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่ใช่วินัย (๕) ย่อมแสดงสิ่งอันตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตได้ภาษิตไว้ ไดกล่าวไว้ (๖) ย่อมแสดงสิ่งอันตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ (๗) ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา (๘) ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา (๙) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตบัญญัติไว้ (๑๐) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ภิกษุเหล่านั้น ! ย่อมทอดทิ้งกัน ย่อมแยกจากกัน ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกันด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้. อานนท์ ! สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันจะประสบผลอะไร พระเจ้าข้า. อานนท์ ! บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะประสบผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่งคืออะไร พระเจ้าข้า. อานนท์ ! บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร) บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีแล้วในการแตกแยก ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ในนรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง ย่อมพลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน.


๑. บาลีเดียวกัน ต่างสำนวนในบางฉบับของไตรปิฎกแต่ละสำนัก

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๕/๑๓๑.

สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรรม”

 สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรรม”

เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม



ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ... ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิด (นิทานสัมภวะ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิดแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความมีประมาณต่างๆ (เวมัตตตา) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในนรก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษยโลก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่... ภิกษุทั้งหลาย ! วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปะปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก) ... ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรม ย่อมมีเพราะ ความดับแห่งผัสสะ. อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม (กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา); ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. -บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘,๔๖๓-๔๖๔/๓๓๔.

มารธีตุสูตรที่ ๕

 มารธีตุสูตรที่ ๕

ทำลายภูเขาด้วยก้านบัว


[๕๐๕] ครั้งนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงถามพระยามารด้วยคาถาว่า ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อมีความเสียใจด้วยเหตุอะไร หรือเศร้าโศกถึงผู้ชายคนไหน หม่อมฉันจักผูกผู้ชายคนนั้นด้วยบ่วง คือราคะ นำมาถวายเหมือนบุคคลผูกช้างมาจากป่า ฉะนั้นชายนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของ คุณพ่อ ฯ [๕๐๖] พระยามารกล่าวว่า ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ [๕๐๗] ครั้งนั้นแล มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง พากันเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่าง นี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงคำของนางมารธิดาเหล่านั้น เพราะ พระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๐๘] ลำดับนั้น มารธิดา คือนางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงหลีกออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของ บุรุษมีต่างๆ กันแล อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ ฯ ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันนิรมิตเพศเป็นนาง กุมาริกาคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอ พระบาทของพระองค์ ฯ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงถ้อยคำของมารธิดา เพราะพระองค์ ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ [๕๐๙] ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ร่วมกันคิดอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของ บุรุษมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรพากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ ฯ ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันจำแลงเพศเป็น หญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอบาทของพระองค์ ฯ ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์ ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ [๕๑๐] ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษทั้งหลายมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละ ร้อยๆ ฯ ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันจำแลงเพศเป็นหญิง คลอดแล้ว คราวเดียวคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอ พระบาทของพระองค์ ฯ ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไป ในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ [๕๑๑] ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิง ที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราว คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๑๒] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน จำแลงเพศเป็นหญิง กลางคน คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์ ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ [๕๑๓] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน จำแลงเพศเป็นหญิง ผู้ใหญ่คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ [๕๑๔] ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากัน หลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงพูดกันว่า เรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูด ไว้ว่า ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงเศร้าโศกมาก ฯ ก็ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์คนใดที่ยังไม่หมดราคะ ด้วยความพยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์คนนั้นพึงแตก หรือโลหิตอุ่น พึงพลุ่งออกจากปาก หรือพึงถึงกับเป็นบ้า หรือถึงความมีจิตฟุ้งซ่าน (จิตลอย) เหมือนอย่างไม้อ้อสดอันลมพัดขาดแล้ว ย่อมหงอยเหงาเหี่ยวแห้งไป แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ครั้นแล้ว นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕๑๕] นางตัณหามารธิดา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ กราบทูล พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้ ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำ ความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือเพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่าท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ ฯ
    [๕๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราชนะเสนาคือปิยรูปและสาตรูป (รูปที่รักและรูปที่พอใจ) เป็นผู้ๆ เดียวเพ่งอยู่ ได้รู้ความบรรลุประโยชน์ และความ สงบแห่งหทัยว่าเป็นความสุข ฯ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความเป็นมิตรกับชนทั้งปวง และ ความเป็นมิตรกับใครๆ ย่อมไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่เรา ฯ [๕๑๗] ลำดับนั้น นางอรดีมารธิดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างไหนมาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ แล้ว เวลานี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้เพ่งฌานอย่างไหนมาก ฯ [๕๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มีอะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้รู้ทั่วซึ่งธรรม มีปรกติเพ่งอยู่ ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้ ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ ฯ ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก ฯ [๕๑๙] ลำดับนั้นแล นางราคามารธิดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย คาถาว่า พระศาสดาผู้เป็นหัวหน้าดูแลคณะสงฆ์ ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก จักประพฤติตามได้แน่แท้ พระศาสดานี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ได้ตัดขาดจากมือมัจจุราชแล้ว จักนำหมู่ชนเป็นอันมากไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ฯ [๕๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าตถาคตมีความแกล้วกล้าใหญ่ ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัทธรรมแล เมื่อตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม ไฉนความริษยาจะพึงมีแก่ท่านผู้รู้เล่า ฯ ๕๒๑] ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ฯ พระยามารเห็นมารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา มาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ได้กล่าวพ้อด้วยคาถาทั้งหลายว่า     พวกคนโง่พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะทำพระโคดมให้เบื่อเข้าต้องหลีกไปเป็นประดุจบุคคลวางหินไว้บนศีรษะแล้วแทรกลงไปในบาดาล หรือดุจบุคคลเอาอกกระแทกตอฉะนั้น ฯ     พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี และนางราคา ผู้มีรูปน่าทัศนายิ่ง ซึ่งได้มาแล้วในที่นั้นให้หนีไป เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น ฯ จบวรรคที่ ๓ พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๑๕๓.  ข้อที่ ๕๐๔ - ๕๐๕

อาการเกิดแห่งทุกข์โดยสังเขป

 อาการเกิดแห่งทุกข์โดยสังเขป

เดอะ นันทิ



มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายที่เห็นด้วยตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวนชวนให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ในรูปนั้นไซร้; เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ในรูปนั้นอยู่, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. มิคชาละ ! เรากล่าวว่า “ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์มีได้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งนันทิ” ดังนี้. (ในกรณีแห่ง เสียง ที่ได้ยินด้วยหู, กลิ่น ที่ดมด้วยจมูก, รส ที่ลิ้มด้วยลิ้น, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่เห็นด้วยตา). -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๕/๖๘.


ความดับทุกข์มี เพราะความดับแห่งนันทิ

ปุณณะ ! รูป ที่เห็นด้วยตาก็ดี, เสียง ที่ฟังด้วยหูก็ดี, กลิ่น ที่ดมด้วยจมูกก็ดี, รส ที่ลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกายก็ดี และธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วยใจก็ดี, อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมก ซึ่งอารมณ์ มีรูปเป็นต้นนั้น. เมื่อภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมก ซึ่งอารมณ์มีรูป เป็นต้นนั้นอยู่, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมดับไป. ปุณณะ ! เรากล่าวว่า “ความดับไม่มีเหลือแห่งทุกข์มีได้ เพราะความดับไม่เหลือแห่งความเพลิน” ดังนี้ แล. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๘๑/๗๕๖.

ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน

 ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน

ไอ้เราก็เทซะด้วย ทีนี้ก็ลำบากว้าวุ่นเลย



วัจฉะ ! ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายต่อสิ่ง ๓ สิ่ง คือ (๑) ทำอันตรายต่อบุญของทายก (ผู้ให้)     (๒) ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก (ผู้รับ)     (๓) และตัวเองก็ขุดรากตัวเอง กำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว วัจฉะ ! ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง ดังนี้แล. วัจฉะ ! เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใด เทน้ำล้างหม้อหรือน้ำล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำ หรือทางน้ำโสโครกซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้น ด้วยคิดว่าสัตว์ในนั้นจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต ดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่า นั่นเป็นทางมาแห่งบุญ เพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ด้วยกัน” ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล เป็นทานมีผลมาก ทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่ และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ ๕ และประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕. ละองค์ ๕ คือ (๑) ละกามฉันทะ (๒) ละพยาบาท (๓) ละถีนมิทธะ (หดหู่ซึมเซา) (๔) ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่านรำคาญ) (๕) ละวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย) ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ (๑) ประกอบด้วยกองศีลชั้นอเสขะ (คือชั้นพระอรหันต์) (๒) ประกอบด้วยกองสมาธิชั้นอเสขะ (๓) ประกอบด้วยกองปัญญาชั้นอเสขะ (๔) ประกอบด้วยกองวิมุตติชั้นอเสขะ (๕) ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะชั้นอเสขะ เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ ๕ และประกอบด้วยองค์ ๕ ด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมาก ดังนี้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๐๕/๔๙๗.

อกุศลกรรมบถ ๑๐

 อกุศลกรรมบถ ๑๐

ปังชา



จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ?     (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต.     (๒) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย.     (๓) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้, บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น, เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่นหรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่. (๒) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจ ยินดี เพลิดเพลินในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก. (๓) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น. (๔) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล ไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาละเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง. จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? (๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้; (๒) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้ายว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้ เป็นต้น;     (๓) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้ว ปฏิบัติแล้วโดยชอบถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้. จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง. จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐. จุนทะ ! บุคคลประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ ลุกจากที่นอนตามเวลาแห่งตนแล้ว แม้จะลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะจับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่จับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะจับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่จับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? จุนทะ ! เพราะเหตุว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ เป็นตัวความไม่สะอาด และเป็นเครื่องกระทำความไม่สะอาด. จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏ หรือว่า ทุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๓/๑๖๕.