สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรรม”

 สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรรม”

เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม



ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ... ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิด (นิทานสัมภวะ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิดแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความมีประมาณต่างๆ (เวมัตตตา) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในนรก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษยโลก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่... ภิกษุทั้งหลาย ! วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปะปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก) ... ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรม ย่อมมีเพราะ ความดับแห่งผัสสะ. อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม (กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา); ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. -บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘,๔๖๓-๔๖๔/๓๓๔.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น