อาการเกิดแห่งทุกข์โดยสังเขป
มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายที่เห็นด้วยตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวนชวนให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ในรูปนั้นไซร้; เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ในรูปนั้นอยู่, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. มิคชาละ ! เรากล่าวว่า “ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์มีได้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งนันทิ” ดังนี้. (ในกรณีแห่ง เสียง ที่ได้ยินด้วยหู, กลิ่น ที่ดมด้วยจมูก, รส ที่ลิ้มด้วยลิ้น, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่เห็นด้วยตา). -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๕/๖๘.
ความดับทุกข์มี เพราะความดับแห่งนันทิ
ปุณณะ ! รูป ที่เห็นด้วยตาก็ดี, เสียง ที่ฟังด้วยหูก็ดี, กลิ่น ที่ดมด้วยจมูกก็ดี, รส ที่ลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกายก็ดี และธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วยใจก็ดี, อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมก ซึ่งอารมณ์ มีรูปเป็นต้นนั้น. เมื่อภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมก ซึ่งอารมณ์มีรูป เป็นต้นนั้นอยู่, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมดับไป. ปุณณะ ! เรากล่าวว่า “ความดับไม่มีเหลือแห่งทุกข์มีได้ เพราะความดับไม่เหลือแห่งความเพลิน” ดังนี้ แล. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๘๑/๗๕๖.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น