พระโสดาบันเป็นใคร (นัยที่หนึ่ง)

พระโสดาบันเป็นใคร (นัยที่หนึ่ง)

ไม่ตกชั้น เอ้ย! ไม่ตกต่ำ



ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วย ธรรม ๔ ประการนี้เอง จึงเป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า. ธรรม ๔ ประการนั้น เป็นอย่างไร ? ๔ ประการนั้น คือ : - (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในองค์พระพุทธเจ้า ว่าเพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งวิชชา เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้. (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในองค์พระธรรม ว่าพระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว, เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษา และปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง, เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล, เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด, เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว, เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้. (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ ว่าสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติให้รู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว อันได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ. นั่นแหละ คือ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นสงฆ์ควรรับทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไปจะพึงทำอัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้. (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า : เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้า ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๙/๑๔๑๔.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถา

 ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถา

พระไม่ยอม กัลยานา



... เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังกล่าวเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงอย่ากล่าวเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องนิคม เรื่องนครเรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เพราะเหตุไรจึงไม่ควรกล่าว เพราะการกล่าวนั้นๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพานเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า “เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้ เพราะเหตุไรจึงควรกล่าว เพราะการกล่าวนั้นๆ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด. -บาลี สี. ที. ๙/๘๗/๑๑๐. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๖/๑๖๖๓.

เหตุของความสามัคคีและความแตกแยก

 เหตุของความสามัคคีและความแตกแยก

เมนูแทนความสามัคคี



ภิกษุทั้งหลาย ! ในทิศใดพวกภิกษุ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความบันเทิงต่อกันและกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยสายตาแห่งความรักอยู่; ภิกษุทั้งหลาย ! ทิศนั้น เป็นที่ผาสุกแก่เรา แม้ต้องเดินไป (อย่างเหน็ดเหนื่อย) จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่เพียงแต่นึกถึง. ในกรณีนี้ เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะภิกษุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรม ๓ อย่างเสียแล้ว และพากันมาถือกระทำให้มากในธรรม ๓ อย่าง. ธรรม ๓ อย่าง อะไรบ้างเล่า ที่เธอละทิ้งเสียแล้ว ? ๓ อย่าง คือ :-     ๑. กามวิตก ความตรึกในกาม     ๒. พ๎ยาปาทวิตก ความตรึกในทางมุ่งร้าย     ๓. วิหิงสาวิตก ความตรึกที่ก่อให้เกิดความลำบากทั้งแก่ตนและผู้อื่น     ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้นละทิ้งเสียแล้ว. ก็ธรรม ๓ อย่าง อย่างไรเล่า ที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันมาถือ กระทำเพิ่มพูนให้มาก ? ๓ อย่าง คือ :-     ๑. เนกขัมมวิตก ความตรึกในการหลีกออกจากความพัวพันในกาม     ๒. อัพ๎ยาปาทวิตก ความตรึกในการไม่ทำความมุ่งร้าย     ๓. อวิหิงสาวิตก ความตรึกในการไม่ทำตนและผู้อื่นให้ลำบาก     ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้น พากันมาถือ กระทำเพิ่มพูนให้มาก. ภิกษุทั้งหลาย ! ในทิศใด พวกภิกษุ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความบันเทิงต่อกันและกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน เข้ากันและกันได้สนิทเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยสายตาแห่งความรักอยู่; ภิกษุทั้งหลาย ! ทิศนั้นเป็นที่ผาสุกแก่เรา แม้ต้องเดินไป (อย่างเหน็ดเหนื่อย) จะป่วยกล่าวไปไยถึงการที่เพียงแต่นึกถึง. ในกรณีนี้ เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะพวกภิกษุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรม ๓ อย่างเหล่าโน้นเสียแล้วและพากันมาถือ กระทำให้มากในธรรม ๓ อย่างเหล่านี้แทน. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๕๕/๕๖๔.

มหาโจร ๕ จำพวก

 มหาโจร ๕ จำพวก

พระมหาโจร


ภิกษุทั้งหลาย ! มหาโจร ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นอย่างไร คือ (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอเราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในหมู่บ้าน นิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในหมู่บ้าน นิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่าเมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร {๑} สมัยต่อมาเธอเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้าน นิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก. (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมอวดอ้างว่าเป็นของตน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก. (๓) ภิกษุทั้งหลาย !อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้. ภิกษุทั้งหลาย !นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก. (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อารามวิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่งฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กะถางโลหะ กะทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกะต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว เครื่องไม้ เครื่องดิน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก. (๕) ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริ-มนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย.

๑ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร = ยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๖๙/๒๓๐.

พอดวงอาทิตย์ขึ้น หิ่งห้อยก็อับแสง

 พอดวงอาทิตย์ขึ้น หิ่งห้อยก็อับแสง

ปิดสวิตช์ ดวงอาทิตย์



เป็นอย่างนั้น อานนท์ ! เป็นอย่างนั้น อานนท์ ! ตลอดเวลาที่ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ยังไม่เกิดขึ้นในโลกอยู่เพียงใด, เหล่าปริพพาชก ผู้เป็นเดียรถีย์อื่น ก็ยังเป็นที่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม และยังมีลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช อยู่ตลอดเวลาเพียงนั้น. อานนท์ ! ในกาลใด ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเองเกิดขึ้นในโลก, เมื่อนั้น เหล่าปริพพาชกผู้เป็นเดียรถีย์อื่น ก็หมดความเป็นที่สักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม และไม่มีลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช. และในบัดนี้ ตถาคตเป็นที่สักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม และมีลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช, รวมทั้งภิกษุสงฆ์ นี้ด้วย. พระผู้มีพระภาคทรงแจ่มแจ้งในความข้อนี้ ได้ทรงอุทานคำอุทานนี้ขึ้นว่า :-     หิ่งห้อยนั้น ย่อมส่องแสงอยู่ได้ชั่วเวลาที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้นมา ครั้นอาทิตย์ขึ้นมา หิ่งห้อยก็หมดแสงไม่มีสว่างอีก. เดียรถีย์ ทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น. โอกาสอยู่ได้ชั่วเวลาที่บุคคลผู้ตรัสรู้ชอบ ด้วยตนเองยังไม่เกิดขึ้นในโลก. พวกที่ได้แต่นึก ๆ เอา (คือไม่ตรัสรู้) ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้. ถึงแม้สาวกของเขาก็เหมือนกัน. ผู้ที่มีความเห็นผิด จะไม่พ้นทุกข์ไปได้เลย”.     บาลี ชัจจันธวรรค อุ. ขุ. ๒๕/๑๙๖/๑๔๖.

ความรู้สึกของปุถุชน

 ความรู้สึกของปุถุชน

เครื่องวัดอริยะบุคคล ไม่ใช่สิ่งนี้


ภิกษุทั้งหลาย ! ในโลกนี้ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่เห็นสัปบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ. ปุถุชนนั้น :- (๑) ย่อมรู้สึกซึ่ง ดิน โดยความเป็นดิน ครั้นรู้สึกซึ่งดินโดยความเป็นดินแล้ว ย่อมสำคัญมั่นหมายซึ่งดิน ย่อมสำคัญมั่นหมายในดิน ย่อมสำคัญมั่นหมายโดยความเป็นดิน ย่อมสำคัญมั่นหมายว่า ดินของเรา ย่อมเพลินอย่างยิ่งซึ่งดิน ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเรากล่าวว่า เพราะดินเป็นสิ่งที่ปุถุชนนั้น มิได้รู้โดยรอบแล้ว. (๒) ย่อมรู้สึกซึ่ง นํ้า ... .     (๓) ย่อมรู้สึกซึ่ง ไฟ ... .     (๔) ย่อมรู้สึกซึ่ง ลม ... .     (๕) ย่อมรู้สึกซึ่ง ภูตสัตว์ทั้งหลาย ... .     (๖) ย่อมรู้สึกซึ่ง เทพทั้งหลาย ... .     (๗) ย่อมรู้สึกซึ่ง ปชาบดี ... .     (๘) ย่อมรู้สึกซึ่ง พรหม ... .     (๙) ย่อมรู้สึกซึ่ง อาภัสสรพรหมทั้งหลาย ... .     (๑๐) ย่อมรู้สึกซึ่ง สุภกิณหพรหมทั้งหลาย ... .     (๑๑) ย่อมรู้สึกซึ่ง เวหัปผลพรหมทั้งหลาย ... .     (๑๒) ย่อมรู้สึกซึ่ง อภิภู ... .     (๑๓) ย่อมรู้สึกซึ่ง อากาสานัญจายตนะ ... .     (๑๔) ย่อมรู้สึกซึ่ง วิญญาณัญจายตนะ ... .     (๑๕) ย่อมรู้สึกซึ่ง อากิญจัญญายตนะ ... .     (๑๖) ย่อมรู้สึกซึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ... .     (๑๗) ย่อมรู้สึกซึ่ง รูปที่เห็นแล้ว ... .     (๑๘) ย่อมรู้สึกซึ่ง เสียงที่ได้ฟังแล้ว ... .     (๑๙) ย่อมรู้สึกซึ่ง สิ่งที่รู้สึกแล้ว ... . (ทางจมูก, ลิ้น, ผิวกาย) ... .     (๒๐) ย่อมรู้สึกซึ่ง สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว ... . (ทางมโนวิญญาณ)     (๒๑) ย่อมรู้สึกซึ่ง เอกภาวะ {๑} (เอกตฺตํ) ... .     (๒๒) ย่อมรู้สึกซึ่ง นานาภาวะ {๑} (นานตฺตํ) ...     (๒๓) ย่อมรู้สึกซึ่ง สรรพภาวะ {๓} (สพฺพํ) ... .๒.     (๒๔) ย่อมรู้สึกซึ่งนิพพาน โดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้สึกซึ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ย่อมสำคัญมั่นหมายซึ่งนิพพาน ย่อมสำคัญมั่นหมายในนิพพาน ย่อมสำคัญมั่นหมายโดยความเป็นนิพพาน ย่อมสำคัญมั่นหมายว่านิพพานของเรา ย่อมเพลินอย่างยิ่งซึ่งนิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเรากล่าวว่า เพราะนิพพานเป็นสิ่งที่ปุถุชนนั้น มิได้รู้โดยรอบแล้ว.๒. ๑. เอกภาวะ : ความเป็นหนึ่ง (วิญญาณ). ๑. นานาภาวะ : ความแตกต่างกัน (รูป เวทนา สัญญาและสังขาร).๒. ๓. สรรพภาวะ : สิ่งทั้งปวง (ขันธ์ทั้ง ๕).๒.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๑/๒.

โคธาสูตร

 โคธาสูตร

แม้เหลือคนเดียวทั้งโลกเราก็จะยืน



ปัญหาเกี่ยวกับการเป็นพระโสดาบัน
[๑๕๑๓] กบิลพัสดุ์นิทาน. ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปหาเจ้าศากยะพระนามว่า โคธา ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า [๑๕๑๔] ดูกรโคธา พระองค์ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า? เจ้าศากยะพระนามว่า โคธาตรัสตอบว่า ดูกรมหานาม หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ...หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า. [๑๕๑๕] ดูกรมหานาม ก็พระองค์เล่าย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...? ม. ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน ... . [๑๕๑๖] โค. จงรอก่อน มหานาม จงรอก่อน มหานาม พระผู้มีพระภาคเท่านั้น จะพึงทรงทราบเรื่องนี้ ว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ หรือมิใช่ที่เป็นพระโสดาบัน? ม. ดูกรโคธา เรามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคกันเถิด แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แก่พระองค์. [๑๕๑๗] ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามและเจ้าศากยะพระนามว่า โคธา เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหาเจ้าศากยะพระนามว่า โคธา ได้กล่าวถามว่า ดูกรโคธา พระองค์ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...? [๑๕๑๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันกล่าวถามอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัสตอบหม่อมฉันว่า ดูกรมหานาม หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ก็พระองค์เล่า ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...? [๑๕๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเจ้าโคธาศากยะตรัสถามอย่างนี้แล้ว หม่อมฉันตอบว่า ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ...เป็นไปเพื่อสมาธิ หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน ... [๑๕๒๐] เมื่อหม่อมฉันกล่าวตอบอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัสกะหม่อมฉันว่า จงรอก่อน มหานาม จงรอก่อน มหานาม พระผู้มีพระภาคเท่านั้นจะพึงทรงทราบเรื่องนี้ว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ หรือมิใช่ที่เป็นพระโสดาบัน? [๑๕๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์(กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันพึงเป็นฝ่ายนั้น ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้. [๑๕๒๒] ... ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น ... [๑๕๒๓] ... ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ และอุบาสกทั้งหลาย (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น ... [๑๕๒๔] ... ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น ... [๑๕๒๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันพึงเป็นฝ่ายนั้น ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้. [๑๕๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมตรัสอะไรกะพระเจ้ามหานามศากยราช เจ้าโคธาศากยะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้มีวาทะอย่างนี้ มิได้พูดอะไรกะพระเจ้ามหานามศากยราช นอกจากกัลยาณธรรม นอกจากกุศล.

    จบ

    พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙   สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๓๗๑. ข้อที่ ๑๕๑๓ - ๑๕๑๔

การท่องเที่ยวที่แสนยาวนาน

การท่องเที่ยวที่แสนยาวนาน

หลุดพ้นได้เพราะเห็นอริยสัจ



ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูก ใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏสัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น.   ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร) เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า :- กระดูกของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้กัปหนึ่ง พึงเป็นกองเท่าภูเขา ก็ภูเขาที่เรากล่าวนั้น คือ ภูเขาใหญ่ชื่อเวปุลละ อยู่ทิศเหนือของภูเขาคิชฌกูฏใกล้เมืองราชคฤห์ อันมีภูเขาล้อมรอบ เมื่อใด บุคคลเห็นอริยสัจ คือ ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความล่วงพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ เมื่อนั้น เขาท่องเที่ยว ๗ ครั้งเป็นอย่างมาก ก็เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสิ้นสัญโญชน์ทั้งปวง ดังนี้แล. 


-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๙/๔๔๐.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)

 ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)

พระห้ามรับช้าง



มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล, เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล, เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ, เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง, เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก, แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง, -บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

บทสวดมนต์ยอดนิยม เป็นคำแต่งใหม่

 บทสวดมนต์ยอดนิยม เป็นคำแต่งใหม่

สวดมนต์ของใคร



บทสวดสัพพมังคลคาถา เป็นคำแต่งใหม่ สัพพมังคลคาถา คือ คาถาที่กล่าวถึงมงคลทั้งหมด คาถานี้อาราธนาคุณของพระพุทธเจ้า และเทวดาทั้งปวงมาพิทักษ์ให้มีความสวัสดี เป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง เพราะไม่มีปรากฎในพระสูตร สันนิษฐานว่าได้รับการประพันธ์นานกว่า ๘๐๐ ปี เพราะมีอ้างไว้ในคัมภีร์สัททนีติ (สุตตมาลา สูตร ๕๐๘) ซึ่งรจนาที่ประเทศสหภาพพม่าในราว พ.ศ. ๑๗๐๐. {๑} ตัวอย่าง สัพพมังคลคาถา ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวตา สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถิ ภะวันตุ เม... บทสวดพาหุง (พุทธชัยมังคลคาถา) เป็นคำแต่งใหม่ บทสวดพาหุง (พุทธชัยมังคลคาถา) คือ คาถาที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ ครั้งแล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี ชัยชนะเหล่านั้น คือ ชนะมาร ชนะอาฬวกยักษ์ ชนะช้างนาฬาคิรี ชนะโจรองคุลิมาล ชนะนางจิญจมาณวิกา ชนะสัจจกนิครนถ์ ชนะนันโทปนันทนาคราช และชนะพกพรหม. นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า ผู้ประพันธ์คาถานี้คือ พระมหาพุทธสิริเถระซึ่งรจนาคัมภีร์ฎีกาพาหุง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และประพันธ์ในราว พ.ศ. ๒๐๐๖ คาถานี้ยังมีชื่อเรียกว่า บทถวายพรพระ เพราะแต่งถวายพรพระเจ้าแผ่นดินเพื่อให้ทรงชนะศึก (วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย หน้า ๓๐๑-๒) อนึ่ง คาถาที่นิยมสวดอยู่ในปัจจุบันมี ๙ คาถา. {๑}. ตัวอย่าง บทสวดพาหุง พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ... คาถาชินบัญชร เป็นคำแต่งใหม่ ชินบัญชร คือ เกราะแก้วของพระชินเจ้า คาถาชินบัญชรนี้กล่าวอาราธนาพระพุทธเจ้า พระสาวก และพระปริตร ให้มาดำรงอยู่ในกายเพื่อพิทักษ์คุ้มครอง ผู้แต่งและสถานที่แต่งไม่มีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์พม่า คือ เรื่องพุทธนวมวินิจฉัย ในวินยสมูหวินิจฉัย (เล่ม ๒ หน้า ๕๐๕-๙) กล่าวว่า แต่งที่เมืองเชียงใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่รัชกาลที่ ๒๐ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๒๑-๒๑๕๐ เพราะในสมัยนั้นชาวเมืองเชียงใหม่นิยมบูชาดาวนพเคราะห์ ในหลวงจึงปรึกษากับพระเถระในยุคนั้น แล้วรับสั่งให้ชาวเมืองสวดคาถาชินบัญชรและคาถาอื่นๆ แทนการบูชาดาวนพเคราะห์ที่ไม่คล้อยตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังนั้น คาถาชินบัญชรจึงแต่งโดยพระเถระชาวไทยที่เมืองเชียงใหม่ คาถานี้ยังแพร่หลายถึงประเทศสหภาพพม่าและศรีลังกาอีกด้วย. คาถาชินบัญชรฉบับที่แพร่หลายอยู่ในประเทศไทยมี ๒ ฉบับ เช่น ฉบับแรกของวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นต้น. {๑} . ตัวอย่าง คาถาชินบัญชร ชะยาสะนะคะตา พุทธา เชต๎วา มารัง สะวาหนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา ... บทสวดอภยปริตร เป็นคำแต่งใหม่ อภยปริตร คือ ปริตรไม่มีภัย เป็นพระปริตรที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้น โดยอ้างคุณพระรัตนตรัยมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี พระปริตรนี้มีปรากฏในบทสวดเจ็ดตำนานและบทสวดสิบสองตำนานของไทย ได้แพร่หลายไปถึงประเทศสหภาพพม่าและศรีลังกาอีกด้วย สันนิษฐานว่ารจนาโดยพระเถระชาวเชียงใหม่ในสมัยรจนาคาถาชินบัญชร สังเกตจาการอธิษฐานให้เคราะห์ร้ายพินาศไป เพราะชาวเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้นนิยมบูชาดาวนพเคราะห์ จึงได้มีนักปราชญ์ประพันธ์คาถานี้ เพื่อให้สวดแทนการบูชาดาวนพเคราะห์ คาถานี้ยังมีปรากฏในคัมภีร์ปริตตฎีกาที่รจนาใน พ.ศ. ๒๑๕๑. {๑} ตัวอย่าง อภยปริตร ยัน ทุนนิมิตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปนัง อะกันตัง พุทธานุภาเวะ วินาสะเมนตุ ... บทสวดอาฏานาฏิยปริตร เป็นคำแต่งใหม่ อาฏานาฎิยสูตรที่ปรากฏใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (-บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๐๙/๒๐๙) มีทั้งหมด ๕๑ คาถา แต่อาฏานาฏิยปริตรที่นิยมสวดกันเป็นบทสวดที่โบราณาจารย์ปรับปรุงเพิ่มเติมในภายหลัง โดยนำคาถาจากพระบาลี ๖ คาถาแรก แล้วเพิ่มคาถาอื่นที่อ้างพระพุทธคุณและเทวานุภาพ เพื่อเป็นสัจวาจาพิทักษ์คุ้มครองผู้สวด สำหรับคาถาสุดท้าย ท่านนำมาจากในคัมภีร์ธรรมบท (-บาลี ขุ. ธ. ๒๕/๒๙/๑๘.) ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าพระเถระชาวลังกาเป็นผู้ปรับปรุงเพิ่มเติมพระปริตรนี้ (พระปริตรแปลพิเศษ ฉบับพม่า หน้า ๔-๕) {๑} ตัวอย่าง อาฏานาฏิยปริตร วิปัสสะ จะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต สิขิสสะปิ จะ นะมัตถุ สัพพะภูตานุกัมปิโน ... บทสวดโพชฌงคปริตร เป็นคำแต่งใหม่ โพชฌงค์ ๗ ที่เป็นพุทธวจน พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นร้อยแก้ว พบในคิลานสูตรที่ ๑ คิลานสูตรที่ ๒ และคิลานสูตรที่ ๓ ในสังยุตนิกาย มหาวรรค (-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๑๓-๑๑๖/๔๑๕-๔๒๗.) ส่วนโพชฌงคปริตรที่สวดกันในปัจจุบันเป็นร้อยกรองที่พระเถระชาวสิงหลประพันธ์ขึ้น โดยนำข้อความจากพระสูตรมาประพันธ์เป็นร้อยกรอง (พระปริตรแปลพิเศษ ฉบับพม่า หน้า ๙). {๑} ตัวอย่าง โพชฌงคปริตร โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา วีริยัง ปีติ ปัสสิทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร ... บทสวดชัยปริตร เป็นคำแต่งใหม่ ชัยปริตร คือ ปริตรที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี คาถา ๑-๓ แสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้าเป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง คาถา ๔-๕-๖ เป็นพุทธวจนที่นำมาจากอังคุตตรนิกาย ปุพพัณหสูตร (-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๗๘/๕๙๕.). {๑} ตัวอย่าง ชัยปริตร มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรต๎วา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง ... บทสวดอุทิศบุญกุศล (ปัตติทานคาถา) เป็นคำแต่งใหม่ ปัตติทานคาถา คือ คาถาอุทิศส่วนบุญ สันนิษฐานว่าเป็นคาถาประพันธ์ที่ประเทศไทย และคงประพันธ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ คาถานี้ประพันธ์โดยอิงอาศัยคำอุทิศส่วนบุญของพระเจ้าจักรพรรดิติโลกวิชัยที่มีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา (อป. ขุ. อ. ๒/๑๙๔.) เพราะมีเนื้อความคล้ายคลึงกับคาถาเหล่านั้น. {๑} ตัวอย่าง ปัตติทานคาถา ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิ กะตานิ เม เตสัญจะ ภาคิโน โหนต สัตตานันตัปปะมาณะกา ... ๑. พระคันธสาราภิวงศ์, ๒๕๕๐. ผู้ประสงค์การสาธยายธรรม หมายเหตุผู้รวบรวม สำหรับผู้ประสงค์การสาธยายธรรม (สชฺฌาย) คำที่ตรัสจากพระโอษฐ์ของตถาคตนั้นเป็นสิ่งที่สมควรต่อการสาธยายได้ทั้งหมด แต่บทที่พระองค์สาธยายด้วยพระองค์เองเมื่ออยู่วิเวกหลีกเร้นผู้เดียวนั้นคือ อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท นอกจากนี้สามารถเลือกดูบทอื่นๆ ได้จากหนังสือ พุทธวจน ฉบับ ๑๐ สาธยายธรรม

อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะ โทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๘๕/๑๕๙.

ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา

 ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา

วิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส



ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา (ความรู้แจ้ง).
๒ อย่าง อะไรเล่า ? ๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา
ภิกษุทั้งหลาย ! สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
อบรมแล้ว จิตจะเจริญ จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว จะละราคะได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ ปัญญาเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว จะละอวิชชาได้ แล.
-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๗๗/๒๕๗.