บทสวดมนต์ยอดนิยม เป็นคำแต่งใหม่

 บทสวดมนต์ยอดนิยม เป็นคำแต่งใหม่

สวดมนต์ของใคร



บทสวดสัพพมังคลคาถา เป็นคำแต่งใหม่ สัพพมังคลคาถา คือ คาถาที่กล่าวถึงมงคลทั้งหมด คาถานี้อาราธนาคุณของพระพุทธเจ้า และเทวดาทั้งปวงมาพิทักษ์ให้มีความสวัสดี เป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง เพราะไม่มีปรากฎในพระสูตร สันนิษฐานว่าได้รับการประพันธ์นานกว่า ๘๐๐ ปี เพราะมีอ้างไว้ในคัมภีร์สัททนีติ (สุตตมาลา สูตร ๕๐๘) ซึ่งรจนาที่ประเทศสหภาพพม่าในราว พ.ศ. ๑๗๐๐. {๑} ตัวอย่าง สัพพมังคลคาถา ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวตา สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถิ ภะวันตุ เม... บทสวดพาหุง (พุทธชัยมังคลคาถา) เป็นคำแต่งใหม่ บทสวดพาหุง (พุทธชัยมังคลคาถา) คือ คาถาที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ ครั้งแล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี ชัยชนะเหล่านั้น คือ ชนะมาร ชนะอาฬวกยักษ์ ชนะช้างนาฬาคิรี ชนะโจรองคุลิมาล ชนะนางจิญจมาณวิกา ชนะสัจจกนิครนถ์ ชนะนันโทปนันทนาคราช และชนะพกพรหม. นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า ผู้ประพันธ์คาถานี้คือ พระมหาพุทธสิริเถระซึ่งรจนาคัมภีร์ฎีกาพาหุง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และประพันธ์ในราว พ.ศ. ๒๐๐๖ คาถานี้ยังมีชื่อเรียกว่า บทถวายพรพระ เพราะแต่งถวายพรพระเจ้าแผ่นดินเพื่อให้ทรงชนะศึก (วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย หน้า ๓๐๑-๒) อนึ่ง คาถาที่นิยมสวดอยู่ในปัจจุบันมี ๙ คาถา. {๑}. ตัวอย่าง บทสวดพาหุง พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ ... คาถาชินบัญชร เป็นคำแต่งใหม่ ชินบัญชร คือ เกราะแก้วของพระชินเจ้า คาถาชินบัญชรนี้กล่าวอาราธนาพระพุทธเจ้า พระสาวก และพระปริตร ให้มาดำรงอยู่ในกายเพื่อพิทักษ์คุ้มครอง ผู้แต่งและสถานที่แต่งไม่มีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์พม่า คือ เรื่องพุทธนวมวินิจฉัย ในวินยสมูหวินิจฉัย (เล่ม ๒ หน้า ๕๐๕-๙) กล่าวว่า แต่งที่เมืองเชียงใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่รัชกาลที่ ๒๐ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๒๑-๒๑๕๐ เพราะในสมัยนั้นชาวเมืองเชียงใหม่นิยมบูชาดาวนพเคราะห์ ในหลวงจึงปรึกษากับพระเถระในยุคนั้น แล้วรับสั่งให้ชาวเมืองสวดคาถาชินบัญชรและคาถาอื่นๆ แทนการบูชาดาวนพเคราะห์ที่ไม่คล้อยตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังนั้น คาถาชินบัญชรจึงแต่งโดยพระเถระชาวไทยที่เมืองเชียงใหม่ คาถานี้ยังแพร่หลายถึงประเทศสหภาพพม่าและศรีลังกาอีกด้วย. คาถาชินบัญชรฉบับที่แพร่หลายอยู่ในประเทศไทยมี ๒ ฉบับ เช่น ฉบับแรกของวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นต้น. {๑} . ตัวอย่าง คาถาชินบัญชร ชะยาสะนะคะตา พุทธา เชต๎วา มารัง สะวาหนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา ... บทสวดอภยปริตร เป็นคำแต่งใหม่ อภยปริตร คือ ปริตรไม่มีภัย เป็นพระปริตรที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้น โดยอ้างคุณพระรัตนตรัยมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี พระปริตรนี้มีปรากฏในบทสวดเจ็ดตำนานและบทสวดสิบสองตำนานของไทย ได้แพร่หลายไปถึงประเทศสหภาพพม่าและศรีลังกาอีกด้วย สันนิษฐานว่ารจนาโดยพระเถระชาวเชียงใหม่ในสมัยรจนาคาถาชินบัญชร สังเกตจาการอธิษฐานให้เคราะห์ร้ายพินาศไป เพราะชาวเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้นนิยมบูชาดาวนพเคราะห์ จึงได้มีนักปราชญ์ประพันธ์คาถานี้ เพื่อให้สวดแทนการบูชาดาวนพเคราะห์ คาถานี้ยังมีปรากฏในคัมภีร์ปริตตฎีกาที่รจนาใน พ.ศ. ๒๑๕๑. {๑} ตัวอย่าง อภยปริตร ยัน ทุนนิมิตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปนัง อะกันตัง พุทธานุภาเวะ วินาสะเมนตุ ... บทสวดอาฏานาฏิยปริตร เป็นคำแต่งใหม่ อาฏานาฎิยสูตรที่ปรากฏใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (-บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๐๙/๒๐๙) มีทั้งหมด ๕๑ คาถา แต่อาฏานาฏิยปริตรที่นิยมสวดกันเป็นบทสวดที่โบราณาจารย์ปรับปรุงเพิ่มเติมในภายหลัง โดยนำคาถาจากพระบาลี ๖ คาถาแรก แล้วเพิ่มคาถาอื่นที่อ้างพระพุทธคุณและเทวานุภาพ เพื่อเป็นสัจวาจาพิทักษ์คุ้มครองผู้สวด สำหรับคาถาสุดท้าย ท่านนำมาจากในคัมภีร์ธรรมบท (-บาลี ขุ. ธ. ๒๕/๒๙/๑๘.) ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าพระเถระชาวลังกาเป็นผู้ปรับปรุงเพิ่มเติมพระปริตรนี้ (พระปริตรแปลพิเศษ ฉบับพม่า หน้า ๔-๕) {๑} ตัวอย่าง อาฏานาฏิยปริตร วิปัสสะ จะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต สิขิสสะปิ จะ นะมัตถุ สัพพะภูตานุกัมปิโน ... บทสวดโพชฌงคปริตร เป็นคำแต่งใหม่ โพชฌงค์ ๗ ที่เป็นพุทธวจน พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นร้อยแก้ว พบในคิลานสูตรที่ ๑ คิลานสูตรที่ ๒ และคิลานสูตรที่ ๓ ในสังยุตนิกาย มหาวรรค (-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๑๓-๑๑๖/๔๑๕-๔๒๗.) ส่วนโพชฌงคปริตรที่สวดกันในปัจจุบันเป็นร้อยกรองที่พระเถระชาวสิงหลประพันธ์ขึ้น โดยนำข้อความจากพระสูตรมาประพันธ์เป็นร้อยกรอง (พระปริตรแปลพิเศษ ฉบับพม่า หน้า ๙). {๑} ตัวอย่าง โพชฌงคปริตร โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา วีริยัง ปีติ ปัสสิทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร ... บทสวดชัยปริตร เป็นคำแต่งใหม่ ชัยปริตร คือ ปริตรที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี คาถา ๑-๓ แสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้าเป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง คาถา ๔-๕-๖ เป็นพุทธวจนที่นำมาจากอังคุตตรนิกาย ปุพพัณหสูตร (-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๗๘/๕๙๕.). {๑} ตัวอย่าง ชัยปริตร มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรต๎วา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง ... บทสวดอุทิศบุญกุศล (ปัตติทานคาถา) เป็นคำแต่งใหม่ ปัตติทานคาถา คือ คาถาอุทิศส่วนบุญ สันนิษฐานว่าเป็นคาถาประพันธ์ที่ประเทศไทย และคงประพันธ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ คาถานี้ประพันธ์โดยอิงอาศัยคำอุทิศส่วนบุญของพระเจ้าจักรพรรดิติโลกวิชัยที่มีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา (อป. ขุ. อ. ๒/๑๙๔.) เพราะมีเนื้อความคล้ายคลึงกับคาถาเหล่านั้น. {๑} ตัวอย่าง ปัตติทานคาถา ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิ กะตานิ เม เตสัญจะ ภาคิโน โหนต สัตตานันตัปปะมาณะกา ... ๑. พระคันธสาราภิวงศ์, ๒๕๕๐. ผู้ประสงค์การสาธยายธรรม หมายเหตุผู้รวบรวม สำหรับผู้ประสงค์การสาธยายธรรม (สชฺฌาย) คำที่ตรัสจากพระโอษฐ์ของตถาคตนั้นเป็นสิ่งที่สมควรต่อการสาธยายได้ทั้งหมด แต่บทที่พระองค์สาธยายด้วยพระองค์เองเมื่ออยู่วิเวกหลีกเร้นผู้เดียวนั้นคือ อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท นอกจากนี้สามารถเลือกดูบทอื่นๆ ได้จากหนังสือ พุทธวจน ฉบับ ๑๐ สาธยายธรรม

อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะ โทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๘๕/๑๕๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น