สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

วันเกิดแอดเอง



ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้นเมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”. ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมาเป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :- อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม {๑} อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้. {๑} โยคกรรม คือ การกระทำอย่างเป็นระบบ

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.

ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น

ปฏิจจสมุปบาท คือ
ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น

Will Smith ปฏิจจสมุปบาท



ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ? ภิกษุทั้งหลาย ! : เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ; เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป; เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ; เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา; เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา; เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน; เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ; เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ; เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย, ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท. เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส ทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้. -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๑/๑.

เจริญอานาปานสติมีอานิสงส์เป็นเอนกประการ (อีกสูตรหนึ่ง)

 เจริญอานาปานสติมีอานิสงส์เป็นเอนกประการ

(อีกสูตรหนึ่ง)

อย่าโอน VS ต้องโอน



ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์มาก.

    เพื่ออยู่เป็นผาสุกมาก ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นผาสุกมาก. ภิกษุทั้งหลาย ! แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด ภิกษุผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ ก็ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน ก็ภิกษุผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไร ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้     ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๘๑/๖๕๕.

อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ

 อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ

ดีนะที่ฟังธรรมเนืองๆ



ภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. (๒) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลองเขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่าเสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึง ความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. (๓) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกลพึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่าเสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึง ความตกลงใจว่า เสียงสังข์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้น ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.     ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.     (๔) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุข อยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ย่อมระลึกได้หรือ ว่าเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน” เธอกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์” สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่ง พึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า “สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ” เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ เราระลึกได้” ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลอานิสงส์ ๔ ประการ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๕๑/๑๙๑.

คุณของกามและโทษของกาม

คุณของกามและโทษของกาม

โทษของกามทั้งหลาย




    เจ้าศากยะทรงพระนามว่า มหานาม ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจข้อธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมานานแล้วอย่างนี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ต่างเป็น อุปกิเลสแห่งจิต ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใด โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นบางครั้งบางคราว ข้าพระองค์เกิดความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ธรรมชื่ออะไรเล่า ที่ข้าพระองค์ ยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นบางครั้งบางคราว.

    มหานาม ธรรมนั้นนั่นแหละ (ราคะ โทสะ โมหะ) ที่ ท่านยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้โลภธรรม ก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของท่านไว้ได้ เป็นบางครั้งบางคราว.
    มหานาม ถ้าธรรมนั้นเป็นอันท่านละได้เด็ดขาด ในภายในแล้ว ท่านก็จะไม่อยู่ครองเรือน ไม่บริโภคกาม แต่เพราะท่านละธรรมเช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาดในภายใน ฉะนั้นท่านจึงยังอยู่ครองเรือน จึงยังบริโภคกาม.
    มหานาม ถ้าแม้ว่าอริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญา โดยชอบตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มากมีความคับแค้นมาก โทษในกามนั้นยิ่งนัก ดังนี้ ถึงแม้ อริยสาวกนั้นเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม แต่ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เธอก็จะยังเป็น ผู้เวียนกลับมาในกามได้ แต่เมื่อใด อริยสาวกได้เล็งเห็น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนั้น ยิ่งนัก ดังนี้ และเธอก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุ ปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เธอย่อม เป็นผู้ไม่เวียนกลับมาในกามได้เป็นแท้.

มหานาม แม้เราเมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก่อนการตรัสรู้ ก็เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนั้นยิ่งนัก ดังนี้ และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม แต่ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่น ที่สงบกว่านั้น เราจึงปฏิญาณไม่ได้ว่า เราเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม แต่เมื่อใด เราเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนั้นยิ่งนัก ดังนี้ และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เราเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม.
    มหานาม ก็อะไรเล่าเป็นคุณของกามทั้งหลาย มหานาม กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ รูปที่รู้ได้ด้วยตา อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่รู้ได้ด้วยหู … กลิ่นที่รู้ได้ด้วยจมูก … รสที่รู้ได้ด้วยลิ้น … สัมผัสทางผิวที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มหานาม เหล่านี้แลกามคุณ ๕ ประการ ความสุข ความโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย.
    มหานาม ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยันในการประกอบศิลปะ คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคำนวณก็ดี ด้วย การนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำกับความหนาว ต้องตรากตรำกับความร้อน ต้องลำบากอยู่ด้วยสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน หรือต้องตายเพราะความหิว ความกระหาย มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะ เหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    มหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อ พยายามอยู่ อย่างนั้น โภคะเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไรรำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเรา ไม่มีผลหนอ มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    มหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้น ขยัน สืบต่อ พยายาม อยู่อย่างนั้น โภคะเหล่านั้นก็สำเร็จผล เขาก็ยังเสวยทุกขโทมนัส เพราะการคอยรักษา โภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไร พระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรไม่พึงปล้นไปได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทอันไม่เป็นที่รักไม่พึงนำไปได้ เมื่อกุลบุตรนั้นคอย รักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้น ไปก็ดี โจรปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้ก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทอันไม่เป็นที่รักนำไปก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไรรำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของ กามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    มหานาม โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย นั่นเอง คือ ข้อที่พวกพระราชาก็วิวาทกันกับพวกพระราชา พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ พวกคหบดีก็วิวาทกันกับพวกคหบดี มารดาก็วิวาทกันกับบุตร บุตรก็วิวาทกันกับมารดา บิดาก็วิวาทกันกับบุตร บุตรก็วิวาทกันกับบิดา พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่สาว น้องสาว พี่สาวน้องสาวก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย สหายก็วิวาทกันกับสหาย เขาเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกัน ทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาสตราบ้าง ถึงความตายไปบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้างอยู่ในที่นั้นๆ มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกาม เป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    มหานาม โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย นั่นเอง คือ คนทั้งหลายต่างถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลาย ถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง คนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ถึงความตายไปบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้างอยู่ในที่นั้นๆ มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกาม เป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    มหานาม โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย นั่นเอง คือ คนทั้งหลายต่างถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู กรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศร ถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง คนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกราดด้วยโคมัยร้อนๆ บ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะ ด้วยดาบบ้าง ถึงความตายไปบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง อยู่ในที่นั้นๆ 
มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    มหานาม โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย นั่นเอง คือ คนทั้งหลายตัดช่องย่องเบาบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง ปล้นในเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในทางเปลี่ยวบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลายจับ คนๆ นั้นได้แล้ว ให้ทำการลงโทษแบบต่างๆ คือ เฆี่ยนด้วย แส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ทุบด้วยท่อนไม้บ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหู บ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูและจมูกบ้าง ลงโทษด้วยวิธีหม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง ด้วยวิธี ขอดสังข์บ้าง ด้วยวิธีปากราหูบ้าง ด้วยวิธีพุ่มเพลิงบ้าง ด้วยวิธีมือไฟบ้าง ด้วยวิธีนุ่งหนังช้างบ้าง ด้วยวิธีนุ่งเปลือกไม้บ้าง ด้วยวิธียืนกวางบ้าง ด้วยวิธีกระชากเนื้อด้วยเบ็ดบ้าง ด้วยวิธีควักเนื้อทีละกหาปณะบ้าง ด้วยวิธีแปรงแสบบ้าง ด้วยวิธีกางเวียนบ้าง ด้วยวิธีตั่งฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันร้อนๆ บ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบด้วยหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะบ้าง
(1) คนเหล่านั้นถึงความตายไปบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้างอยู่ในที่นั้นๆ 
มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของ กามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นได้เองว่า มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่ง กามทั้งหลายทั้งนั้น.

        -บาลี มู. ม. ๑๒/๑๗๙/๒๐๙.

(1) รายละเอียดวิธีการลงโทษนั้น สามารถดูเพิ่มเติมได้จากกฎหมายตรา ๓ ดวง
หมวดพระไอยการกระบดศึก -ผู้รวบรวม

ให้ตั้งจิตในกายคตาสติเสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมัน

 ให้ตั้งจิตในกายคตาสติเสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมัน

บุรุษผู้ถือหม้อน้ำมันแพง



ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนหมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า มีนางงามในชนบท พึงประชุมกัน ก็นางงามในชนบทนั้น น่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าดูอย่างยิ่งในการขับร้อง หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามในชนบทจะฟ้อนรำขับร้อง พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ ครั้งนั้น บุรุษผู้อยากเป็นอยู่ไม่อยากตาย ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์ พึงมากล่าวกับหมู่มหาชนนั้นอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ! ท่านพึงนำภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่กับนางงามในชนบท  และจักมีบุรุษเงื้อดาบตามบุรุษผู้นำหม้อน้ำมันนั้นไปข้างหลังๆ บอกว่า ท่านจักทำน้ำมันนั้นหกแม้หน่อยหนึ่งในที่ใด ศีรษะของท่านจักขาดตกลงไปในที่นั้นทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ? บุรุษผู้นั้นจะไม่ใส่ใจภาชนะน้ำมันโน้น แล้วพึงประมาทในภายนอกเทียวหรือ ? “ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความนี้ชัดขึ้น เนื้อความในข้อนี้มีอย่างนี้แล คำว่า ภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยม เป็นชื่อของกายคตาสติ.   ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ จักเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยานกระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว.   ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ แล.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๖๖/๗๖๓.

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ตาลีบัน ทำไลน์พระพุทธวจน



อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.  

อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล.


    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑. 

สัมมาทิฏฐิโลกุตตระ นานาแบบ (ตามคำพระสารีบุตร)

สัมมาทิฏฐิโลกุตตระ นานาแบบ (ตามคำพระสารีบุตร)

วันสตรีสากล เป็นอะไรไม่ได้ แต่เป็นอริยะได้



-หมวดเนื่องด้วยกุศล-อกุศล

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอกุศลและอกุศลมูลด้วย รู้ชัดซึ่งกุศลและกุศลมูลด้วย; แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า อกุศล นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงเป็นอกุศล; การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นอกุศล; การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล; การกล่าวเท็จเป็นอกุศล; วาจาส่อเสียด เป็นอกุศล; วาจาหยาบคาย เป็นอกุศล; การกล่าวคำเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล; อภิชฌา เป็นอกุศล; พยาบาท เป็นอกุศล; มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล; ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! เหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เป็นอกุศล. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า อกุศลมูล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? โลภะ เป็นอกุศลมูล; โทสะ เป็นอกุศลมูล; โมหะ เป็นอกุศลมูล. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! เหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เป็นอกุศลมูล.     ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า กุศล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?     ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! เจตนาเว้นจากปาณาติบาตเป็นกุศล; เจตนาเว้นจากอทินนาทาน เป็นกุศล; เจตนาเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นกุศล; เจตนาเว้นจากมุสาวาท เป็นกุศล; เจตนาเว้นจากปิสุณาวาท เป็นกุศล; เจตนาเว้นจากผรุสวาท เป็นกุศล; เจตนาเว้นจากสัมผัปปลาปวาท เป็นกุศล; อนภิชฌา เป็นกุศล; อัพ๎ยาปาท เป็นกุศล; สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! เหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เป็นกุศล. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า กุศลมูล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อโลภะ เป็นกุศลมูล; อโทสะ เป็นกุศลมูล; อโมหะ เป็นกุศลมูล. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย! เหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เป็นกุศลมูล. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอกุศลอย่างนี้, รู้ชัดซึ่งอกุศลมูลอย่างนี้, รู้ชัดซึ่งกุศลอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งกุศลมูลอย่างนี้ อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิและมานะว่า เรามีเราเป็น ได้โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏฐธรรมนี้ นั่นเทียว. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.          (หมายเหตุ : อ่านต่อหมวดอื่นๆ ได้ในหนังสือพุทธวจน คู่มือโสดาบัน หน้า 184) -บาลี มู. ม. ๑๒/๘๕/๑๑๐.

ลักษณะแห่งอินทรียภาวนาชั้นเลิศ

 ลักษณะแห่งอินทรียภาวนาชั้นเลิศ

ตามเหตุตามปัจจัย



    อานนท์ ! อินทรียภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา) ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า?     อานนท์ ! ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ-ไม่เป็นที่ชอบใจ-เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะเห็นรูปด้วยตา.     ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า “อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งที่มีปัจจัย ปรุงแต่ง (สงฺขต) เป็นของหยาบๆ (โอฬาริก) เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน); แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้.     (เมื่อรู้ชัดอย่างนี้) อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ-ไม่เป็นที่ชอบใจ-เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป อุเบกขายังคงดำรงอยู่.     อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ-ไม่เป็นที่ชอบใจ-เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไปเร็วเหมือนการกะพริบตาของคน ส่วนอุเบกขายังคงเหลืออยู่.     อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรียภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย     ในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ. ......     (ในกรณีแห่ง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน; ต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้นๆ, เช่นในกรณีแห่งเสียงเปรียบด้วยความเร็วแห่ง การดีดนิ้วมือ เป็นต้น).

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๒/๘๕๖.

ทรงเป็นยามเฝ้าตลิ่งให้ปวงสัตว์

 ทรงเป็นยามเฝ้าตลิ่งให้ปวงสัตว์ 

รายการทวนกระแส



ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนมีบุรุษผู้หนึ่ง ว่ายล่องกระแสน้ำลงไป เพราะเหตุจะได้สิ่งน่ารักน่าเพลินใจ. มีบุรุษบัณฑิตผู้หนึ่ง ยืนอยู่บนฝั่ง เห็นบุรุษผู้ว่ายน้ำนั้นแล้ว ร้องบอกไปว่า “ท่านผู้เจริญ ! ท่านย่อมว่ายล่องตามกระแสน้ำ เพราะเหตุจะได้สิ่งน่ารักน่าเพลินใจโดยแท้. แต่ว่า ทางเบื้องล่างนั้น มีห้วงน้ำลึก มีคลื่น มีน้ำวน มียักษ์ มีรากษส ซึ่งเมื่อท่านไปถึงที่นั่นแล้ว จักต้องตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย”. ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ว่ายล่องตามกระแสน้ำ นั้น ครั้นได้ฟังดังนั้นแล้วก็พยายาม ว่ายทวนกระแสน้ำกลับมา ด้วยกำลังมือและเท้าทั้งหมดของเขา. ภิกษุทั้งหลาย ! คำอุปมานี้ ตถาคตผูกขึ้น เพื่อให้รู้เนื้อความ. เนื้อความในเรื่องนั้น ดังนี้ : คำว่า ‘กระแสน้ำ’ เป็นชื่อแห่งตัณหา.          คำว่า ‘สิ่งน่ารักน่าเพลินใจ’ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายในหก.          คำว่า ‘ห้วงน้ำลึก’ เป็นชื่อแห่งสัญโญชน์เบื้องต่ำห้าอย่าง.          คำว่า ‘คลื่น’ เป็นชื่อแห่งความโกรธ และความคับแค้น.          คำว่า ‘น้ำวน’เป็นชื่อแห่งกามคุณห้า.          คำว่า ‘ยักษ์’ และ ‘รากษส’ เป็นชื่อแห่งเพศตรงข้าม.          คำว่า ‘ว่ายทวนกระแสกลับมา’ เป็นชื่อแห่งเนกขัมมะ.          คำว่า ‘พยายามด้วยกำลังมือและเท้าทั้งหมด’ เป็นชื่อแห่งการปรารภความเพียร.             คำว่า ‘บุรุษบัณฑิต ผู้ยืนอยู่บนฝั่ง’ เป็นชื่อแห่งตถาคต ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัม พุทธเจ้า นี้แล.

- บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๑๖/๒๘๙