อุปมาด้วยแม่น้ำอจิรวดี

 อุปมาด้วยแม่น้ำอจิรวดี

ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้



[๓๗๖] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีนี้ น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขายืนที่ฝั่งนี้ ร้องเรียกฝั่งโน้นว่า ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้ ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝั่งโน้นของแม่น้ำอจิรวดีจะพึงมาสู่ฝั่งนี้ เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา หรือเพราะเหตุยินดีของบุรุษนั้นหรือหนอ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ พระจันทร์ พระวรุณ พระอีศวร พระประชาบดี พระพรหม พระมหินทร์ ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาอย่างนั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา หรือเพราะยินดี ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

    พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค   หน้าที่ ๓๖๕  ข้อที่ ๓๗๖

หน้าที่ 366

ละธรรม ๕ อย่าง ได้ความเป็นอริยบุคคล (นัยที่ ๑)

ละธรรม ๕ อย่าง ได้ความเป็นอริยบุคคล (นัยที่ ๑)

Stop Do - Man No Way โยม



    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๕ ประการ ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน … ทุติยฌาน … ตติยฌาน … จตุตถฌาน … ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล … สกทาคามิผล … อนาคามิผล … อรหัตตผล ธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ความตระหนี่ที่อยู่
(๒) ความตระหนี่สกุล
(๓) ความตระหนี่ลาภ
(๔) ความตระหนี่วรรณะ
(๕) ความเป็นคนอกตัญญูกตเวที
    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล. 

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๕ ประการ ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน … ทุติยฌาน … ตติยฌาน … จตุตถฌาน … ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล … สกทาคามิผล … อนาคามิผล … อรหัตตผล ธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ความตระหนี่ที่อยู่
(๒) ความตระหนี่สกุล
(๓) ความตระหนี่ลาภ
(๔) ความตระหนี่วรรณะ
(๕) ความเป็นคนอกตัญญูกตเวที
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๕ ประการนี้แลควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.

(ในสูตรอื่น ได้ตรัสโดยนัยเดียวกันนี้ ต่างกันเฉพาะในข้อที่ ๕ โดยตรัสว่าเป็น ความตระหนี่ธรรม -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๐๒/๒๕๗. -ผู้รวบรวม)

    -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๐๓/๒๕๙.

ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๑)

 ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๑)

ทรัพย์ ผมก็มี๊ ทรัพย์ในอริยวินัย



ภิกษุทั้งหลาย ! ทรัพย์ ๕ ประการเหล่านี้มีอยู่ ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ (๑) ทรัพย์คือ ศรัทธา (๒) ทรัพย์คือ ศีล (๓) ทรัพย์คือ สุตะ (๔) ทรัพย์คือ จาคะ (๕) ทรัพย์คือ ปัญญา ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศีลเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ทรัพย์ ๕ ประการ.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด.


-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๘/๔๗.

สมาธิทุกขั้นตอนใช้เป็นบาทฐาน ในการเข้าวิมุตติได้ทั้งหมด

สมาธิทุกขั้นตอนใช้เป็นบาทฐาน

ในการเข้าวิมุตติได้ทั้งหมด

The Matrix 4  เดอะ มาเถอะ มาทำฌานทั้ง 4



ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง; เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง; เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง; เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง; เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง; เพราะอาศัยวิญญาณัญจาตยนะบ้าง; เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนะบ้าง; เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง; เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. ในปฐมฌานนั้น มีธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; เธอนั้นตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรมเหล่านั้น แล้วจึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติ เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณ มีปฐมฌานเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์มีในเบื้องต่ำห้าประการ และเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทินั้นๆ นั่นเอง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง กะรูปหุ่นดินบ้าง; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว. (ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง ก็มีคำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งปฐมฌานข้างบนนี้ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่ชื่อแห่งฌานเท่านั้น).
ภิกษุทั้งหลาย ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะ อาศัยอากาสานัญจายตนะ บ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุเพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียได้ โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ในอากาสานัญจายตนะนั้น มีธรรมคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ที่กำลังทำหน้าที่อยู่); {๑} เธอนั้น ตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรม (คือขันธ์เพียงสี่) เหล่านั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติ เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณ มีอากาสานัญจายตะเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ มีในเบื้องต่ำห้าประการ และเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทินั้นๆ นั่นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง กะรูปหุ่นดินบ้าง; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุเพราะก้าวล่วงซึ่งรูปสัญญาเสียได้ โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว. (ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนะบ้าง เพราะอาศัย อากิญจัญญายตนะบ้าง ก็มีคำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งอากาสานัญจายตนะข้างบนนี้ ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่ชื่อแห่งสมาบัติเท่านั้น). ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล เป็นอันกล่าวได้ว่าสัญญาสมาบัติมีประมาณเท่าใด อัญญาปฏิเวธ (การแทงตลอดอรหัตตผล) ก็มีประมาณเท่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนว่า อายตนะอีก ๒ ประการ กล่าวคือ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ และ สัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งอาศัยสัญญาสมาบัติ เหล่านั้น นั้นเรากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ฌายีภิกษุผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ฉลาดในการออกจากสมาบัติ จะพึงเข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัติ แล้วกล่าวว่าเป็นอะไรได้เองโดยชอบ ดังนี้.

๑. ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ตั้งแต่ ฌาน ๑-๔ มีขันธ์ครบห้าส่วน, ใน อากาสานัญจายตนะ ถึง อากิญจัญญายตนะนั้น มีขันธ์เพียงสี่ คือ ขาดรูปขันธ์ไป.

-บาลี นวก. อํ. ๒๓/๓๔๘/๒๔๐.

 พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียดแต่ละสายของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสายโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ (เห็นตลอดสาย นัยที่หนึ่ง)

ซานต้าครอส แก่ ชรา



ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;

เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความสิ้นไปแห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า ชรา. การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์ คือ ชีวิตจากสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า มรณะ. ชรานี้ด้วย มรณะนี้ด้วย ย่อมมีอยู่ ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชรามรณะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ; ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งชาติ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง
เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ชาติ เป็นอย่างไรเล่า ? การเกิด การกำเนิด การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชาติ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ; ความดับไม่เหลือแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งภพ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ภพ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภพ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน; ความดับไม่เหลือแห่งภพ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ความยึดมั่นในกาม ความยึดมั่นในความเห็น ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติทางกายและวาจา (ศีลพรต) ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าอุปาทาน. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา; ความดับไม่เหลือ แห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งตัณหา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งตัณหาทั้งหลาย ๖ หมู่ เหล่านี้ คือ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ...ในกลิ่น ...ในรส ...ในสัมผัสทางกาย ความอยากในธรรมารมณ์ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ตัณหา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา; ความดับไม่เหลือแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งเวทนา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ เวทนา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งเวทนาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา ...ทางหู ...ทางจมูก... ทางลิ้น ...ทางกาย และเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า เวทนา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ; ความดับไม่เหลือแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งผัสสะทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ สัมผัสทางตา ...ทางหู ...ทางจมูก ...ทางลิ้น ...ทางกาย สัมผัสทางใจ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ผัสสะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ; ความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า ? จักข๎วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะกายายตนะ มนายตนะ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าสฬายตนะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป; ความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งนามรูป; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ นามรูป เป็นอย่างไรเล่า ? เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ : นี้เรียกว่านาม. มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ด้วย : นี้เรียกว่า รูป. นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย ย่อมมีอยู่อย่างนี้ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า นามรูป. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ; ความดับไม่เหลือแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางตา) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร; ความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสังขาร; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กายสังขาร (ความปรุงแต่งทางกาย) วจีสังขาร (ความปรุงแต่งทางวาจา) จิตตสังขาร (ความปรุงแต่งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา; ความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวก ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่งธรรม อันเป็นปัจจัย (เหตุ) ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งธรรม อันเป็นปัจจัย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลนั้น เราเรียกอริยสาวกนั้น ว่า :- “ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทิฏฐิ” ดังนี้บ้าง; “ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทัสสนะ” ดังนี้บ้าง; “ผู้มาถึงพระสัทธรรมนี้แล้ว” ดังนี้บ้าง; “ผู้ได้เห็นอยู่ซึ่งพระสัทธรรมนี้” ดังนี้บ้าง; “ผู้ประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ” ดังนี้บ้าง;“ผู้ประกอบแล้วด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ” ดังนี้บ้าง; “ผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งธรรมแล้ว” ดังนี้บ้าง; “ผู้ประเสริฐมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส” ดังนี้บ้าง;“ยืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะ” ดังนี้บ้าง, ดังนี้ แล.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๕๐/๘๘.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)

 ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล (นัยที่ ๒)

นายกแนะเลี้ยงไก่บ้านละ2ตัว



มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล, เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล, เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน, เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ, เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ, เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง, เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก, แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,


-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

เหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

เหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

ทายาทสายตรงไอน์สไตน์



สุภมาณพ โตเทยยบุตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต”. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาณพ ! สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้.         “ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อมิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ! ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความแห่งอุเทศนี้โดยพิสดารด้วยเถิด”.
มาณพ ! ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป :- สุภมาณพ โตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า “ชอบแล้ว พระเจ้าข้า ! ”. พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้นนี้คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา.
มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีศักดาน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉา ในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น.
มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีโภคะน้อย.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนกระด้างเย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะ แก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว สอบถามว่าอะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว สอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. มาณพ ! ด้วยประการฉะนี้แล ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความมีโรคมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก. มาณพ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า :- “แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า ! แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า ! พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ. ขอพระโคดมผู้เจริญ ! จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”.
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.

เพราะไม่รู้อริยสัจ จึงต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ

 เพราะไม่รู้อริยสัจ จึงต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ

กล่องสุ่ม


ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนท่อนไม้ อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ บางคราวตกเอาโคนลง บางคราวตกเอาตอนกลางลง บางคราวตกเอาปลายลง ข้อนี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ :- อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า :- ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้. .... .... .... .... ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่อย่าง เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสัจสี่อย่าง เหล่าไหนเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือของทุกข์ และอริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่ออริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือของทุกข์ และทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นความจริงที่เราและพวกเธอทั้งหลาย รู้ถึงและแทงตลอดแล้ว ตัณหาในภพ ก็ถูกถอนขึ้นขาดตัณหาที่จะนำไปสู่ภพ ก็สิ้นไปหมด บัดนี้ ความต้องเกิดขึ้นอีก มิได้มี ดังนี้.


-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.

การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา(เปรียบด้วยอากาศ)

 การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา (เปรียบด้วยอากาศ)

วางจิตเหมือนอากาศสิ




ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- ๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล ๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง ๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย ๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่

และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันเป็นจิตไพบูลย์ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเนียกอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาสีมา เป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้แลหรือ ? “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”. เพราะเหตุไรเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปไม่ได้ แสดงออกซึ่งรูปไม่ได้ ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหา ๕ ประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. (คือมีจิตเหมือนอากาศ อันใครๆ จะเขียนให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น). ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล...

(นอกจากนี้ยังทรงอุปมาเปรียบกับบุรุษถือเอาจอบและกระทอมาขุดแผ่นดิน หวังจะไม่ให้เป็นแผ่นดินอีก, เปรียบกับบุรุษถือเอาคบเพลิงหญ้ามาเผาแม่น้ำคงคา หวังจะให้เดือดพล่าน ซึ่งเป็นฐานะที่ไม่อาจเป็นได้).


-บาลี มู. ม. ๑๒/๒๕๔, ๒๕๖/๒๖๗, ๒๖๙.