การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา(เปรียบด้วยอากาศ)

 การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา (เปรียบด้วยอากาศ)

วางจิตเหมือนอากาศสิ




ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- ๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล ๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง ๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย ๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่

และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันเป็นจิตไพบูลย์ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเนียกอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาสีมา เป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้แลหรือ ? “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”. เพราะเหตุไรเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปไม่ได้ แสดงออกซึ่งรูปไม่ได้ ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหา ๕ ประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. (คือมีจิตเหมือนอากาศ อันใครๆ จะเขียนให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น). ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล...

(นอกจากนี้ยังทรงอุปมาเปรียบกับบุรุษถือเอาจอบและกระทอมาขุดแผ่นดิน หวังจะไม่ให้เป็นแผ่นดินอีก, เปรียบกับบุรุษถือเอาคบเพลิงหญ้ามาเผาแม่น้ำคงคา หวังจะให้เดือดพล่าน ซึ่งเป็นฐานะที่ไม่อาจเป็นได้).


-บาลี มู. ม. ๑๒/๒๕๔, ๒๕๖/๒๖๗, ๒๖๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น