สมาธิทุกขั้นตอนใช้เป็นบาทฐาน ในการเข้าวิมุตติได้ทั้งหมด

สมาธิทุกขั้นตอนใช้เป็นบาทฐาน

ในการเข้าวิมุตติได้ทั้งหมด

The Matrix 4  เดอะ มาเถอะ มาทำฌานทั้ง 4



ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง; เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง; เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง; เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง; เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง; เพราะอาศัยวิญญาณัญจาตยนะบ้าง; เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนะบ้าง; เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง; เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. ในปฐมฌานนั้น มีธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; เธอนั้นตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรมเหล่านั้น แล้วจึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติ เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณ มีปฐมฌานเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์มีในเบื้องต่ำห้าประการ และเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทินั้นๆ นั่นเอง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง กะรูปหุ่นดินบ้าง; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว. (ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง ก็มีคำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งปฐมฌานข้างบนนี้ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่ชื่อแห่งฌานเท่านั้น).
ภิกษุทั้งหลาย ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะ อาศัยอากาสานัญจายตนะ บ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุเพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียได้ โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ในอากาสานัญจายตนะนั้น มีธรรมคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ที่กำลังทำหน้าที่อยู่); {๑} เธอนั้น ตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรม (คือขันธ์เพียงสี่) เหล่านั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติ เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณ มีอากาสานัญจายตะเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ มีในเบื้องต่ำห้าประการ และเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทินั้นๆ นั่นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง กะรูปหุ่นดินบ้าง; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุเพราะก้าวล่วงซึ่งรูปสัญญาเสียได้ โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว. (ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนะบ้าง เพราะอาศัย อากิญจัญญายตนะบ้าง ก็มีคำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งอากาสานัญจายตนะข้างบนนี้ ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่ชื่อแห่งสมาบัติเท่านั้น). ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล เป็นอันกล่าวได้ว่าสัญญาสมาบัติมีประมาณเท่าใด อัญญาปฏิเวธ (การแทงตลอดอรหัตตผล) ก็มีประมาณเท่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนว่า อายตนะอีก ๒ ประการ กล่าวคือ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ และ สัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งอาศัยสัญญาสมาบัติ เหล่านั้น นั้นเรากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ฌายีภิกษุผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ฉลาดในการออกจากสมาบัติ จะพึงเข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัติ แล้วกล่าวว่าเป็นอะไรได้เองโดยชอบ ดังนี้.

๑. ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ตั้งแต่ ฌาน ๑-๔ มีขันธ์ครบห้าส่วน, ใน อากาสานัญจายตนะ ถึง อากิญจัญญายตนะนั้น มีขันธ์เพียงสี่ คือ ขาดรูปขันธ์ไป.

-บาลี นวก. อํ. ๒๓/๓๔๘/๒๔๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น