ลำดับการปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล

 ลำดับการปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล

ธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์



ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมไม่กล่าวการประสบความพอใจในอรหัตตผล ด้วยการกระทำอันดับแรกเพียงอันดับเดียว. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แต่ว่า การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้ เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้ เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษบุคคลในกรณีนี้ : เป็นผู้มีศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ย่อม เข้าไปหา (สัปบุรุษ); เมื่อเข้าไปหา ย่อม เข้าไปนั่งใกล้; เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อม เงี่ยโสตลงสดับ; ผู้เงี่ยโสตลงสดับ ย่อม ได้ฟังธรรม; ครั้นฟังแล้ว ย่อม ทรงจำธรรมไว้, ย่อม ใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความ แห่งธรรม ทั้งหลายที่ตนทรงจำไว้; เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่, ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์; เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด; ผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อม มีอุตสาหะ; ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อม ใช้ดุลยพินิจ (เพื่อหาความจริง); ครั้นใช้ดุลยพินิจ (พบ) แล้ว ย่อม ตั้งตนไว้ในธรรมนั้น; ผู้มีตนส่งไปแล้วในธรรมนั้นอยู่ ย่อม กระทำให้แจ้ง ซึ่งบรมสัจจ์ด้วยนามกาย ด้วย, ย่อม เห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งบรมสัจจ์นั้นด้วยปัญญา ด้วย.

-บาลี ม. ม. ๑๓/๒๓๓/๒๓๘.

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

 ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ความตายย่ำยีหมดทุกคน



(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”. อานนท์ ! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า : โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๘๗/๙๖๒.

กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน

 กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน

ลืมตัว



เรื่องมีอยู่ว่าภิกษุ ๒ รูปทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้วไม่เห็นอาบัติ จึงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเข-ปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น แต่ละรูปต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างก็หาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้พระภาคจะทรงแนะนำตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการทางกายทางวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงตักเตือน. ภิกษุทั้งหลาย ! พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย. มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี ! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิด พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบ ๒ ว่า ภิกษุทั้งหลาย ! พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย. มีภิกษุบางรูปทูลคำนี้ขึ้นเป็นคำรบ ๒ ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี ! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิด พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”. พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมาร แห่งแคว้นโกศลผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสีในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว (คือไม่ให้ผูกเวรจองเวรไว้นาน) ไม่ให้เห็นแก่สั้น (คือไม่ให้ตัดไมตรี) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตพระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืนพร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย. ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับศัสตราอาวุธยังทรงมีขันติและโสรัจจะได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยม แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง.

กาลนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จเข้าไปสู่เมืองโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืน ตรัสคาถานี้ว่า คนไพร่ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญตัวว่า เป็นพาลไม่ เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่น ให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่. พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูดอย่างไร ก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกันไม่. พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้น ย่อมระงับไม่ลง. พวกใด ไม่ผูกใจเจ็บว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้น ย่อมระงับได้. ในยุคไหนก็ตาม เวรทั้งหลาย ไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล. คนพวกอื่น ไม่รู้สึกว่า ‘พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้’ พวกใด สำนึกตัวได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้ เพราะความรู้สึกนั้น.

ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยังมีได้แม้แก่พวกคนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมืองหักแข้งขาชาวบ้าน ฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป แล้วทำไมจะมีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า. ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ ที่มีความเป็นอยู่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้ ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชาที่ละแคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียว ดุจช้างมาตังคะ เที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น. การเที่ยวไปคนเดียว ดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป เป็นคนมักน้อย ดุจช้างมาตังคะ เป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่า ฉะนั้น. ครั้นแล้วจึงเสด็จไปจากที่นั้นสู่พาลกโลณการกคาม สู่ป่าชื่อปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่างๆ ในที่ที่เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ และได้มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปัฏฐากดูแลพระผู้มีพระภาค ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี.

ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่านเหล่านี้รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่ต้องทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่ต้องถวายบิณฑบาต ท่านเหล่านี้ถูกพวกเราไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะอย่างนี้ จักหลีกไปเสีย หรือจักสึกเสีย หรือจักให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด ครั้นแล้วไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งพวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายบิณฑบาต. ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ จึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ! มิฉะนั้น พวกเราพึงไปพระนครสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตร จีวร พากันเดินทางไปพระนครสาวัตถี. ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกสำนึกผิด จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีและยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้นเป็นสังฆสามัคคีด้วยทุติยกรรมวาจา เสร็จแล้วให้สวดปาติโมกข์.

-บาลี มหา. วิ. ๕/๓๑๒/๒๓๘.

ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย

ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย


แข่งกับอนาคตภัย
 


โอลิมปิก-อนาคตภัย



ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยในอนาคตเหล่านี้ มีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้น อยู่ตลอดไป, เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว. ภัยในอนาคต ๕ ประการนั้น คืออะไรบ้างเล่า ? ๕ ประการ คือ :- (๑) ภิกษุในกรณีนี้ พิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรายังหนุ่ม ยังเยาว์วัย ยังรุ่นคะนอง มีผมยังดำสนิท ตั้งอยู่ในวัยกำลังเจริญ คือปฐมวัย; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ความแก่ จะมาถึงร่างกายนี้, ก็คนแก่ ถูกความชราครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำได้ง่ายๆ เลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือความแก่) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะแก่เฒ่าก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก:

    (๒) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุให้ความอบอุ่นสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก พอปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร;แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ความเจ็บไข้จะมาถึงร่างกายนี้, ก็คนที่เจ็บไข้ถูกพยาธิครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย; และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำได้ง่ายๆ เลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือความเจ็บไข้) นั้น จะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะเจ็บไข้ ก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก :

(๓) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ ข้าวกล้างามดี บิณฑะ (ก้อนข้าว) หาได้ง่าย เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายามแสวงหาบิณฑบาต; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ ภิกษาหายาก ข้าวกล้าเสียหาย บิณฑะหาได้ยาก ไม่เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายามแสวงหาบิณฑบาต, เมื่อภิกษาหายาก ที่ใดภิกษาหาง่าย คนทั้งหลายก็อพยพกันไปที่นั้น, เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น เมื่อมีการคลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย. ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือภิกษาหายาก) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดทุพภิกขภัย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก :

(๔) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ คนทั้งหลายสมัครสมานชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดุจดั่งนมผสมกับน้ำ มองแลกันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กัน เป็นอยู่; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ ภัย คือโจรป่ากำเริบ ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่ในอาณาจักรแตกกระจัดกระจายแยกย้ายกันไป, เมื่อมีภัยเช่นนี้ ที่ใดปลอดภัย คนทั้งหลายก็อพยพกันไปที่นั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น เมื่อมีการอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย : ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือโจรภัย) นั้น จะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดโจรภัย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก :

(๕) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ สงฆ์สามัคคีปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน อยู่เป็นผาสุก; แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่สงฆ์แตกกัน, เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย : ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ (คือสงฆ์แตกกัน) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวเมื่อสงฆ์แตกกัน” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยในอนาคต ๕ ประการเหล่านี้แล ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ตลอดไป, เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๑๗/๗๘.

เวทนาทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์

 เวทนาทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์

วางจิตแบบตถาคต



ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! เมื่อท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร นันทิ (กิเลสเป็นเหตุ ให้รู้สึกเพลิน) จึงจะไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เวทนาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่; สามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า ‘เวทนา ทั้ง ๓ อย่างนั้น เป็นของไม่เที่ยง; สิ่งใดเป็นของไม่เที่ยง, สิ่งนั้น ล้วนเป็นทุกข์’ ดังนี้ ; เพราะรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ นันทิ จึงไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย’ . ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ปริยายที่เธอกล่าวนี้ ก็เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งเนื้อความนั้นแหละ แต่โดยย่อ ว่า “เวทนาใดๆ ก็ตาม เวทนานั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์” ดังนี้.


        -นิทาน. สํ. ๑๖/๖๐/๑๐๖,


ทรงสอนเฉพาะแต่เรื่องทุกข์ กับความดับสนิทของทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ! ทั้งที่เรามีถ้อยคำอย่างนี้ มีการกล่าว อย่างนี้ สมณะและพราหมณ์บางพวก ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่มีจริงให้เป็นจริงว่า “พระสมณโคดมเป็นคนจูงคนให้เดินผิดทางไปสู่ความฉิบหาย ย่อมบัญญัติลัทธิความสูญเปล่า ความวินาศ ความไม่มีของสัตว์ คน ตัวตน เราเขา ขึ้นสั่งสอน” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะและพราหมณ์บางพวกเหล่านั้น กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่มีจริงให้เป็นจริง โดยประการที่เราไม่ได้กล่าว หรือจะกล่าวอย่างนั้น ก็หามิได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลก่อนก็ตาม ในกาลบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์ เท่านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในการกล่าวแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์เช่นนี้ แม้จะมีใครมาด่าว่า ถากถาง กระทบกระเทียบ เสียดสี, ตถาคตก็ไม่มีความขุ่นแค้น โกรธเคือง เดือดร้อนใจ เพราะเหตุนั้น แต่ประการใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง แม้จะมีใครมาสักการะ เคารพ สรรเสริญ บูชา, ตถาคตก็ไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลิน ชื่นชม หรือเคลิ้มใจไปตาม. ถ้ามีใครมาสักการะ เคารพ สรรเสริญ บูชา, ตถาคตย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างไร บัดนี้เราก็ต้องทำความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างนั้น ดังนี้.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๒๗๖/๒๘๖.

การแสดงปฐมเทศนา

การแสดงปฐมเทศนา

ธรรมจักร



ภิกษุ ท. ! ครั้งนั้น เมื่อเรากล่าวสอน พร่ำสอนภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ * ด้วยอาการอย่างนี้ เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีการเกิดเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตนก็รู้แจ้งแล้ว ซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีการเกิดเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเป็น ธรรมที่ไม่มีการเกิด, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจาก เครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีการเกิด. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความชราเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่มีความชรา, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูก รัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความชรา. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซี่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความเจ็บไข้, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจาก เครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความเจ็บไข้. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่ตาย, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่ตาย. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทราม ในความเป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็น ธรรมที่ไม่มีความเศร้าหมอง, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัย จากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่เศร้าหมอง. ญาณ และ ทัสสนะ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เธอเหล่านั้นว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ดังนี้.


* ในที่นี้ ได้แก่การตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และเบ็ดเตล็ด และอนัตตลักขณสูตรเป็นครั้งสุดท้าย, แต่สำหรับคำตรัสเล่า ไม่มีที่ระบุชื่อชัด จึงไม่นำมาใส่ไว้ในที่นี้. ทั้งทราบกันได้ดีอยู่แล้ว ในบาลีแห่งอื่นๆ ก็มีเพียงทรงเล่าว่าได้แสดงอริยสัจจ์, ดังได้ยกมาเรียงต่อท้ายข้อ ความตอนนี้ไว้เป็นตัวอย่างแล้ว.

    บาลี ปาสราสิสูตร มู.ม. ๑๒/๓๓๒/๓๒๖,

ทรงประกาศธรรมจักรที่อิสิปตนมฤคทายวัน


ภิกษุ ท. ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี, เป็นธรรมจักรที่สมณะหรือพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับมิได้ * ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ตื้น ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ : สี่ประการได้แก่ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และความจริงอันประเสริฐ คือทางทำผู้ปฏิบัติให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

*คำนี้ แปลกันโดยมากว่า “ที่ใคร ๆ ประกาศให้เป็นไปมิได้”, แต่ตามรูปศัพท์แปลเช่นข้างบน นี้ก็ได้ ขอท่านผู้รู้ พิจารณาด้วย.

    บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๔๙/๖๙๙.

จักรของพระองค์ไม่มีใครต้านทานได้


ภิกษุ ท. ! จักรพรรดิราชที่ประกอบไปด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมอาจหมุนจักร * โดยธรรมให้เป็นไปได้. และจักรนั้น เป็นจักรที่มนุษย์ไรๆ ผู้เป็นข้าศึกไม่อาจต้านทานให้หมุนกลับได้ด้วยมือ. องค์ ๕ ประการ คืออะไรบ้างเล่า ? องค์ ๕ ประการ คือจักรพรรดิราชนั้น เป็นคนผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักประมาณที่พอเหมาะ รู้จักกาละ รู้จักบริษัท.     ภิกษุ ท. ! จักรพรรดิที่ประกอบด้วยองค์ห้าเหล่านี้แล ที่สามารถหมุนจักรโดยธรรมให้เป็นไปได้ และเป็นจักรที่ใคร ๆ ผู้เป็นข้าศึก ไม่อาจต้านทานให้หมุนกลับได้ด้วยมือ, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท. ! ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ก็เป็นฉันนั้น. ตถาคตประกอบด้วยธรรม ๕ ประการแล้ว ย่อมหมุน ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งไปกว่า ให้เป็นไปได้โดยธรรม. และจักรนั้น เป็นจักรที่สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถต้านทานให้หมุนกลับได้. ธรรม ๕ ประการนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?     ภิกษุ ท. ! ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ย่อมเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักประมาณที่พอเหมาะ รู้จักกาละ รู้จักบริษัท. ตถาคตประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล จึงหมุน ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า ให้เป็นไปได้โดยธรรม, และจักรนั้นเป็นจักรที่สมณะ หรือพราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่สามารถต้านทานให้หมุนกลับได้ ดังนี้.

* คำว่าจักร ย่อมหมายถึงอำนาจครอบงำ ซึ่งจะเป็นทางกายหรือทางจิต ย่อมแล้วแต่กรณี.

    บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๖๖/๑๓๑.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

คนดัง Call Out




    มหาราช ! อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

-บาลี สามัญผลสูตร สี. ที. ๙/๘๙/๑๑๔.

ผู้ทำสัทธรรมให้อันตรธาน นัยที่ ๑

 ผู้ทำสัทธรรมให้อันตรธาน นัยที่ ๑

84,000พระธรรมขันธ์ไม่มี



ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดความสุข ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นย่อมประสบสิ่งไม่ใช่บุญเป็นอันมาก และได้ชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่ใช่ธรรม ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัย ว่าเป็นวินัย ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่ใช่วินัย ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ... .

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงกรรมอันตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงกรรมอันตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคต ไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตบัญญัติไว้ ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพวกที่แสดงสิ่งอันตถาคตได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดความสุข ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นย่อมประสบสิ่งไม่ใช่บุญเป็นอันมาก และได้ชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย. {๑} ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท (สงฆ์แตกกัน) สังฆเภท (สงฆ์แตกกัน) ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า.

อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (๑) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม (๒) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่ใช่ธรรม (๓) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัย ว่าเป็นวินัย (๔) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่ใช่วินัย (๕) ย่อมแสดงสิ่งอันตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ (๖) ย่อมแสดงสิ่งอันตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ (๗) ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา (๘) ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตได้ประพฤติปฏิบัติมา ว่าตถาคตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา (๙) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตบัญญัติไว้ (๑๐) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ภิกษุเหล่านั้น ! ย่อมทอดทิ้งกัน ย่อมแยกจากกัน ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกันด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้.

อานนท์ ! สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันจะประสบผลอะไร พระเจ้าข้า. อานนท์ ! บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะประสบผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่งคืออะไร พระเจ้าข้า. อานนท์ ! บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีแล้วในการแตกแยก ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ในนรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง ย่อมพลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน.


๑. บาลีเดียวกัน ต่างสำนวนในบางฉบับของไตรปิฎกแต่ละสำนัก

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๕/๑๓๑.

บทสวด แก้ความหวาดกลัว

 บทสวดแก้ความหวาดกลัว

บทสวดแก้ความหวาดกลัว



อะรัญเญ รุกขะมูเล วา สุญญาคาเรวะ ภิกขะโว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายอยู่ในป่า

หรืออยู่โคนไม้ หรืออยู่ในเรือนว่างก็ตาม อะนุสสะเรถะ สัมพุทธัง ภะยัง ตุมหากัง โน สิยา พึงระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด
ความกลัวก็จะไม่พึงมีแก่พวกเธอทั้งหลาย โน เจ พุทธัง สะเรยยาถะ โลกะเชฏฐัง นะราสะภัง แต่ถ้าเธอทั้งหลาย ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้เจริญแห่งโลก เป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน มิได้ไซร้
อะถะ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง ก็พึงระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์
ที่เราแสดงไว้ดีแล้วเถิด โน เจ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง แต่ถ้าเธอทั้งหลาย ระลึกถึงพระธรรม
อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ที่เราแสดงไว้ดีแล้ว มิได้ไซร้
อะถะ สังฆัง สะเรยยาถะ ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง ก็พึงระลึกถึงพระสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก
ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าเถิด
เอวัง พุทธัง สะรันตานัง ธัมมัง สังฆัญจะ ภิกขะโว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลาย
ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส นะ เหสสะตีติ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี
จักไม่มีเลย ดังนี้.

-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๓๒๓/๘๖๖.

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

food phra




มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล,
เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล,
เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ,
เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ,
เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง,
เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก,
แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

ผู้อยู่ใกล้นิพพาน


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างแล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียว. ธรรมสี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? ธรรมสี่อย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล, เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย, เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ, เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล, มีการสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร, มีมรรยาทและโคจรสมบูรณ์อยู่, เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้เล็กน้อย, สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด และไม่แยกถือเอาเป็นส่วนๆ {๑} สิ่งที่เป็นบาปอกุศล คืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, เธอก็ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, เธอรักษาและถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร, ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยกำหนดรู้ว่า “เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้ว ไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น, ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจะมีแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวันยันค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี, ครั้นยามกลางแห่งราตรี ย่อมสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น, ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ก็ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม และด้วยการนั่งอีก. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียวแล.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๕๐/๓๗.

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

 ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

ตอบผิดตามตำราแต่ตอบถูกตามพระพุทธเจ้า



บัวมี 3 เหล่าครับ คุณครู



ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ ท. ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด, ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-

“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

    บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.