เวทนาทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์

 เวทนาทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์

วางจิตแบบตถาคต



ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! เมื่อท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร นันทิ (กิเลสเป็นเหตุ ให้รู้สึกเพลิน) จึงจะไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย ? ” ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า ‘ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เวทนาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่; สามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า ‘เวทนา ทั้ง ๓ อย่างนั้น เป็นของไม่เที่ยง; สิ่งใดเป็นของไม่เที่ยง, สิ่งนั้น ล้วนเป็นทุกข์’ ดังนี้ ; เพราะรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ นันทิ จึงไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย’ . ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้”. ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ปริยายที่เธอกล่าวนี้ ก็เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งเนื้อความนั้นแหละ แต่โดยย่อ ว่า “เวทนาใดๆ ก็ตาม เวทนานั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์” ดังนี้.


        -นิทาน. สํ. ๑๖/๖๐/๑๐๖,


ทรงสอนเฉพาะแต่เรื่องทุกข์ กับความดับสนิทของทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ! ทั้งที่เรามีถ้อยคำอย่างนี้ มีการกล่าว อย่างนี้ สมณะและพราหมณ์บางพวก ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่มีจริงให้เป็นจริงว่า “พระสมณโคดมเป็นคนจูงคนให้เดินผิดทางไปสู่ความฉิบหาย ย่อมบัญญัติลัทธิความสูญเปล่า ความวินาศ ความไม่มีของสัตว์ คน ตัวตน เราเขา ขึ้นสั่งสอน” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะและพราหมณ์บางพวกเหล่านั้น กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่มีจริงให้เป็นจริง โดยประการที่เราไม่ได้กล่าว หรือจะกล่าวอย่างนั้น ก็หามิได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลก่อนก็ตาม ในกาลบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์ เท่านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในการกล่าวแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์เช่นนี้ แม้จะมีใครมาด่าว่า ถากถาง กระทบกระเทียบ เสียดสี, ตถาคตก็ไม่มีความขุ่นแค้น โกรธเคือง เดือดร้อนใจ เพราะเหตุนั้น แต่ประการใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง แม้จะมีใครมาสักการะ เคารพ สรรเสริญ บูชา, ตถาคตก็ไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลิน ชื่นชม หรือเคลิ้มใจไปตาม. ถ้ามีใครมาสักการะ เคารพ สรรเสริญ บูชา, ตถาคตย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างไร บัดนี้เราก็ต้องทำความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างนั้น ดังนี้.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๒๗๖/๒๘๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น