การแสดงปฐมเทศนา

การแสดงปฐมเทศนา

ธรรมจักร



ภิกษุ ท. ! ครั้งนั้น เมื่อเรากล่าวสอน พร่ำสอนภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ * ด้วยอาการอย่างนี้ เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีการเกิดเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตนก็รู้แจ้งแล้ว ซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีการเกิดเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเป็น ธรรมที่ไม่มีการเกิด, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจาก เครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีการเกิด. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความชราเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่มีความชรา, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูก รัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความชรา. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซี่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความเจ็บไข้, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจาก เครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความเจ็บไข้. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่ตาย, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่ตาย. เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทราม ในความเป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา. เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็น ธรรมที่ไม่มีความเศร้าหมอง, ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัย จากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่เศร้าหมอง. ญาณ และ ทัสสนะ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เธอเหล่านั้นว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ดังนี้.


* ในที่นี้ ได้แก่การตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และเบ็ดเตล็ด และอนัตตลักขณสูตรเป็นครั้งสุดท้าย, แต่สำหรับคำตรัสเล่า ไม่มีที่ระบุชื่อชัด จึงไม่นำมาใส่ไว้ในที่นี้. ทั้งทราบกันได้ดีอยู่แล้ว ในบาลีแห่งอื่นๆ ก็มีเพียงทรงเล่าว่าได้แสดงอริยสัจจ์, ดังได้ยกมาเรียงต่อท้ายข้อ ความตอนนี้ไว้เป็นตัวอย่างแล้ว.

    บาลี ปาสราสิสูตร มู.ม. ๑๒/๓๓๒/๓๒๖,

ทรงประกาศธรรมจักรที่อิสิปตนมฤคทายวัน


ภิกษุ ท. ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี, เป็นธรรมจักรที่สมณะหรือพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับมิได้ * ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ตื้น ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ : สี่ประการได้แก่ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และความจริงอันประเสริฐ คือทางทำผู้ปฏิบัติให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

*คำนี้ แปลกันโดยมากว่า “ที่ใคร ๆ ประกาศให้เป็นไปมิได้”, แต่ตามรูปศัพท์แปลเช่นข้างบน นี้ก็ได้ ขอท่านผู้รู้ พิจารณาด้วย.

    บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๔๙/๖๙๙.

จักรของพระองค์ไม่มีใครต้านทานได้


ภิกษุ ท. ! จักรพรรดิราชที่ประกอบไปด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมอาจหมุนจักร * โดยธรรมให้เป็นไปได้. และจักรนั้น เป็นจักรที่มนุษย์ไรๆ ผู้เป็นข้าศึกไม่อาจต้านทานให้หมุนกลับได้ด้วยมือ. องค์ ๕ ประการ คืออะไรบ้างเล่า ? องค์ ๕ ประการ คือจักรพรรดิราชนั้น เป็นคนผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักประมาณที่พอเหมาะ รู้จักกาละ รู้จักบริษัท.     ภิกษุ ท. ! จักรพรรดิที่ประกอบด้วยองค์ห้าเหล่านี้แล ที่สามารถหมุนจักรโดยธรรมให้เป็นไปได้ และเป็นจักรที่ใคร ๆ ผู้เป็นข้าศึก ไม่อาจต้านทานให้หมุนกลับได้ด้วยมือ, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท. ! ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ก็เป็นฉันนั้น. ตถาคตประกอบด้วยธรรม ๕ ประการแล้ว ย่อมหมุน ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งไปกว่า ให้เป็นไปได้โดยธรรม. และจักรนั้น เป็นจักรที่สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถต้านทานให้หมุนกลับได้. ธรรม ๕ ประการนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?     ภิกษุ ท. ! ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ย่อมเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักประมาณที่พอเหมาะ รู้จักกาละ รู้จักบริษัท. ตถาคตประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล จึงหมุน ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า ให้เป็นไปได้โดยธรรม, และจักรนั้นเป็นจักรที่สมณะ หรือพราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่สามารถต้านทานให้หมุนกลับได้ ดังนี้.

* คำว่าจักร ย่อมหมายถึงอำนาจครอบงำ ซึ่งจะเป็นทางกายหรือทางจิต ย่อมแล้วแต่กรณี.

    บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๖๖/๑๓๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น