ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

ลักษณะของภิกษุผู้มีศีล

food phra




มหาราชะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว, เว้นจาก การฉันในราตรีและวิกาล,
เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมและการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล,
เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งด้วยมาลาและของหอมและเครื่องลูบทา, เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทอง,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับข้าวเปลือก,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ทั้งผู้และเมีย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับที่นาและที่สวน,
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูตไปในที่ต่างๆ,
เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย,
เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอมและการฉ้อด้วยเครื่องนับ,
เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยการนับสินบนและล่อลวง,
เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้นและการกรรโชก,
แม้นี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง,

-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.

ผู้อยู่ใกล้นิพพาน


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างแล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียว. ธรรมสี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? ธรรมสี่อย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล, เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย, เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ, เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล, มีการสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร, มีมรรยาทและโคจรสมบูรณ์อยู่, เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้เล็กน้อย, สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด และไม่แยกถือเอาเป็นส่วนๆ {๑} สิ่งที่เป็นบาปอกุศล คืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, เธอก็ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, เธอรักษาและถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร, ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยกำหนดรู้ว่า “เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้ว ไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น, ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจะมีแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวันยันค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี, ครั้นยามกลางแห่งราตรี ย่อมสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น, ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ก็ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม และด้วยการนั่งอีก. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียวแล.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๕๐/๓๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น