เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง

เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง


กินเจ พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ



    ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม
พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์
ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
    ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้
ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
        เนื้อที่ตนเห็น
        เนื้อที่ตนได้ยิน
        เนื้อที่ตนรังเกียจ
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล
    
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
        เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
        เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
        เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์หน้าที่ ๔๒ ข้อที่ ๕๖ - ๕๗

ลำดับการปฏิบัติเพื่อรู้ตามซึ่งสัจจธรรม

ลำดับการปฏิบัติเพื่อรู้ตามซึ่งสัจจธรรม


ลำดับการปฏิบัติเพื่อรู้ตามซึ่งสัจจธรรม




ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมไม่กล่าวการประสบความพอใจในอรหัตตผล ด้วยการ
กระทำอันดับแรกเพียงอันดับเดียว. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แต่ว่า การประสบความพอใจ
ในอรหัตตผล ย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษบุคคลในกรณีนี้ : 
เป็นผู้มีศรัทธา เกิดขึ้นแล้ว
ย่อม เข้าไปหาผู้ถึงอริยสัจ (สัปบุรุษ); เมื่อเข้าไปหา ย่อม เข้าไปนั่งใกล้; เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อม เงี่ยโสตลงสดับ;
ผู้เงี่ยโสตลงสดับ ย่อม ได้ฟังธรรม; ครั้นฟังแล้ว ย่อม ทรงจำธรรมไว้, ย่อม ใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรม ทั้งหลายที่ตนทรงจำไว้; เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่,
ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์; เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด; ผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อม มีอุตสาหะ; ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อม พิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม ครั้นพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรมแล้ว ย่อม ตั้งตนไว้ในธรรม นั้น; ผู้มีตนส่งไปแล้วในธรรมนั้นอยู่ ย่อม กระทำให้แจ้ง ซึ่งบรมสัจจ์ด้วยกาย ด้วย,
ย่อม เห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งบรมสัจจ์นั้นด้วยปัญญา ด้วย.

    -บาลี ม. ม. ๑๓/๒๓๓/๒๓๘.

ผัคคุณสูตร

ผัคคุณสูตร

ก็อินทรีย์จักไม่ผ่องใสได้อย่างไร



ก็สมัยนั้น ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะอาพาธมีทุกข์เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะเถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วจะลุกจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระผัคคุณะว่า
อย่าเลยผัคคุณะ เธออย่าลุกขึ้นจากเตียง อาสนะเหล่านี้ที่ผู้อื่นได้ปูไว้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูไว้แล้ว ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระผัคคุณะว่า
ดูกรผัคคุณะเธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา
ย่อมบรรเทาไม่กำเริบหรือปรากฏว่าบรรเทา ไม่กำเริบขึ้นหรือ
ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้นไม่บรรเทาเลยข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คมฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์อดทนไม่ได้
ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลยเปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวดที่ศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือลูกมือของบุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีดสำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละท้องโค ฉันใด ลมกล้ามีประมาณยิ่งย่อมเสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ...เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน จับบุรุษผู้อ่อนกำลังคนเดียวที่แขนคนละข้าง แล้วพึงลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กายของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่งฉันนั้น ข้าแต่ระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่บรรเทาเลย
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถาให้ท่านพระผัคคุณะเห็นแจ้ง
ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละและในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้น ผ่องใสยิ่งนัก ฯ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพรภาคเสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุ
ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น
ดูกรอานนท์อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตายเธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงาม
ในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลางอันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ
ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อม
ตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ฯ
ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคตแต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคตและย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาตหน้าที่ ๓๔๓ ข้อที่ ๓๒๗
หน้าท

ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ


กูก็เป็นโค








ภิกษุทั้งหลาย ! ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ แม้จะร้องอยู่ว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ก็ตามที แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ ร้องเอาเองว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบางรูปในกรณีเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ แม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศอยู่ว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้ ก็ตามที แต่ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้น ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศเอาเองว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้เท่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๔/๕๒๒.

พระสัมมาสัมพุทธะ บัญญัติให้ภิกษุฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว

พระสัมมาสัมพุทธะ

บัญญัติให้ภิกษุฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว


พระสัมมาสัมพุทธะ บัญญัติให้ภิกษุฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว


สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายถึงประโยชน์ของการฉันอาหารมื้อเดียว และบัญญัติให้ภิกษุฉันอาหารมื้อเดียว เพื่อความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ซึ่งพระภัททาลิได้แย้งว่าตนเองทำไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจึงอนุญาตให้พระภัททาลิสามารถนำอาหารที่ได้จากการรับนิมนต์กลับมาฉันต่ออีกมื้อหนึ่งได้ ซึ่งพระภัททาลิก็ได้แย้งว่าตนเองทำไม่ได้อีก จากนั้นพระภัททาลิก็ไม่กล้าพบหน้าพระผู้มีพระภาคจนตลอด ๓ เดือน จนกระทั่งถึงฤดูทำจีวร ภิกษุทั้งหลายได้ตักเตือนพระภัททาลิถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม พระภัททาลิจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด. ภัททาลิ ! เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาดซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา.
ภัททาลิ ! เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่ออุภโตภาควิมุตติ {๑} เราพึงกล่าวแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า. ภัททาลิ ! เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่อปัญญาวิมุตติ เป็นอริยบุคคลชื่อกายสักขี เป็นอริยบุคคลชื่อทิฏฐิปัตตะ เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธาวิมุตติ เป็นอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี เราพึงกล่าวกะภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า. ภัททาลิ ! เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ในสมัยนั้น เธอเป็นพระอริยบุคคลชื่อว่าอุภโตภาควิมุตติ ปัญญาวิมุตติ กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุตติ ธรรมานุสารี หรือสัทธานุสารี บ้างหรือหนอ.
มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า. ภัททาลิ ! ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด. ภัททาลิ ! เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมระวังต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัยของผู้นั้น.

๑. หาคำตอบในความหมายของชื่ออริยบุคคลแต่ละจำพวก ได้ในไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๓ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ ๑๑๙ ข้อที่ ๒๓๐

-บาลี ม. ม. ๑๓/๑๖๔/๑๖๓.

อานันทสังฆเภทสูตร

อานันทสังฆเภทสูตร


อานันทสังฆเภทสูตร

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่าสังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
  -ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่า เป็นธรรม
-ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า ไม่ใช่ธรรม ...
-ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้
-ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
ภิกษุเหล่านั้น ย่อมทอดทิ้งกัน ย่อมแยกจากกัน ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน
สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้
ดูกรอานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ
อา: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน
จะประสบผลอะไร พระเจ้าข้า ฯ พ: ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้นจะประสพผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง ฯ อา: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง คืออะไร พระเจ้าข้า ฯ พ: ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้นจะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง ฯ บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีแล้วในการแตกแยก ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ใน นรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง ย่อมพลาดจากธรรมเป็นแดนเกษม จากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะ ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน ฯ

-พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๖๘ ข้อที่ ๓๗ - ๓๘

พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา”

พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา”

พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา”










พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา”









อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
“ธรรมวินัยของพวกเรา มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น.
อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา. ภิกษุทั้งหลาย !บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เถิด ดังนี้. นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.

ผลของการกระทำที่ทำได้เหมาะสมกับเวลา

ผลของการกระทำที่ทำได้เหมาะสมกับเวลา


ผลของการกระทำที่ทำได้เหมาะสมกับเวลา

ภิกษุทั้งหลาย ! กาล ๔ ประการนี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ
ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ. กาล ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า คือ :- ๑. การฟังธรรมตามกาล (กาเลน ธมฺมสฺสวนํ)
๒. การสนทนาธรรมตามกาล (กาเลน ธมฺมสากจฺฉา)
๓. การทำสมถะตามกาล (กาเลน สมโถ)
๔. การทำวิปัสสนาตามกาล (กาเลน วิปสฺสนา) ภิกษุทั้งหลาย ! กาล ๔ ประการนี้แล อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยเต็มแล้ว ย่อมยังบึงน้อยให้เต็ม บึงน้อยเต็มแล้ว ย่อมยังบึงใหญ่ให้เต็ม บึงใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็ม แม้ฉันใด กาล ๔ ประการนี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๘๘/๑๔๗.