ผู้เรียกร้องหาศาสดาเพื่อความเป็นมิตร หรือศัตรู

 ผู้เรียกร้องหาศาสดาเพื่อความเป็นมิตร หรือศัตรู

ลูกศิษย์ประกาศสงครามกับศาสดา



อานนท์ ! สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นศัตรู ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นมิตร เป็นอย่างไรเล่า อานนท์ ! ในกรณีนี้ ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า “สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้งหลาย และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลาย” ดังนี้ เป็นต้น สาวกเหล่านั้นของศาสดา ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง แต่แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดาไปเสีย. อานนท์ ! สาวกทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้เรียกร้องหาศาสดาเพื่อความเป็นศัตรู ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นมิตร. อานนท์ ! สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรู เป็นอย่างไรเล่า. อานนท์ ! ในกรณีนี้ ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้วจึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า “สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้งหลาย และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลาย” ดังนี้ เป็นต้น สาวกเหล่านั้นของศาสดา ย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดา. อานนท์ ! สาวกทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรู. อานนท์ ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงเรียกร้องหาตถาคตเพื่อความเป็นมิตรเถิด อย่าเรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรูเลย ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลายเองตลอดกาลนาน. อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธออย่างทะนุ-ถนอม เหมือนพวกช่างหม้อทำแก่หม้อที่ยังเปียก ยังดิบอยู่. อานนท์ ! เราจักขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด. อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้.


-บาลีอุปริ. ม. ๑๔/๒๔๔/๓๕๕

ลักษณะการพูดของตถาคต

ลักษณะการพูดของตถาคต

ลักษณะการพูดของพระพุทธเจ้า



ราชกุมาร ! ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม เลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.  ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น. 
ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้ รู้จักกาละที่เหมาะ เพื่อกล่าววาจานั้น. -บาลี ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔.

เอกบุคคลบาลี

เอกบุคคลบาลี

22022022 พระพุทธเจ้าไม่มีสอง



[๑๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลกเพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ [๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกหาได้ยากในโลก บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลายความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกนี้แล หาได้ยากในโลก ฯ [๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริย มนุษย์ บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์ ฯ [๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลกิริยาของบุคคลผู้เอก เป็นเหตุเดือดร้อนแก่ชนเป็น อันมาก บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลกิริยาของบุคคลผู้เอกนี้แล เป็นเหตุเดือดร้อนแก่ชนเป็นอันมาก ฯ [๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่มีที่ สอง ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มี บุคคลเปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลกย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่มีสอง ไม่มีเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย ฯ 


    -บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๙/๑๔๓.


โลกธาตุหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว


    อานนท์ ! ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะนั้น ย่อมรู้ว่า ข้อนี้มิใช่ฐานะ ข้อนี้มิใช่โอกาสที่จะมี คือข้อที่ในโลกธาตุ อันเดียว จะมีพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ สององค์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้. ส่วนฐานะอันมีได้นั้น คือข้อที่ในโลกธาตุอันเดียว มีพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ องค์เดียวเกิดขึ้น นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้.

    -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๑/๒๔๕. 

ภิกขุผู้เปรียบเหมือนเมฆ ๔ แบบ

 ภิกขุผู้เปรียบเหมือนเมฆ ๔ แบบ

ภิกขุเปรียบด้วยวลาหก ทั้งตกทั้งคำราม



    ๑. ผู้(ปริยัติ)เล่าเรียนธรรม แต่ไม่(ปฏิบัติ)รู้ทั่วถึงธรรม
    ๒. ผู้ไม่เล่าเรียนธรรม แต่รู้ทั่วถึงธรรมได้
    ๓. ผู้ทั้งไม่เล่าเรียนธรรม ทั้งไม่รู้ทั่วถึงธรรม
    ๔. ผู้เล่าเรียนธรรม และได้รู้ทั่วถึงธรรมด้วย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วลาหก ๔ อย่างนี้
๔ อย่างเป็นไฉน คือ
วลาหกคำราม แต่ไม่ให้ฝนตก อย่าง ๑
ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม อย่าง ๑
ทั้งไม่คำราม ทั้งไม่ให้ฝนตก อย่าง ๑
คำรามด้วยให้ฝนตกด้วย อย่าง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายวลาหก ๔ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ
บุคคลดุจวลาหกคำราม แต่ไม่ให้ฝนตกจำพวก ๑
ดุจวลาหกไม่คำราม แต่ให้ฝนตกจำพวก ๑
ดุจวลาหกทั้งไม่คำราม ทั้งไม่ให้ฝนตกจำพวก ๑
ดุจวลาหกคำรามด้วย ให้ฝนตกด้วยจำพวก ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจวลาหกคำราม แต่ไม่ให้ฝนตก อย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถาอุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เขาไม่รู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
บุคคลเป็นดุจวลาหกคำราม แต่ไม่ให้ฝนตกอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วลาหกคำราม แต่ไม่ให้ฝนตก แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจวลาหกให้ฝนตก แต่ไม่คำราม อย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ แต่เขารู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
บุคคลเป็นดุจวลาหกให้ฝนตก แต่ไม่คำรามอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วลาหกให้ฝนตกแต่ไม่คำราม แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเป็นดุจวลาหกทั้งไม่คำรามทั้งไม่ให้ฝนตก อย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ทั้งเขาไม่รู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
บุคคลเป็นดุจวลาหกทั้งไม่คำราม ทั้งไม่ให้ฝนตกอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วลาหกทั้งไม่คำรามทั้งไม่ให้ฝนตก แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเป็นดุจวลาหกคำรามด้วยให้ฝนตกด้วยอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ทั้งเขารู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
บุคคลเป็นดุจวลาหกคำรามด้วย ให้ฝนตกด้วย อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วลาหกคำรามด้วยให้ฝนตกด้วย แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

พระไตรปิฎก(ฉบับหลวง) สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ ๒๑
หน้าที่ ๑๐๓ ข้อที่ ๑๐๒

ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย

ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย

เลิศกว่าคำเป็นที่รัก



ภิกษุทั้งหลาย ! กำลัง ๔ ประการเหล่านี้มีอยู่ ๔ ประการเป็นอย่างไร คือ (๑) กำลัง คือ ปัญญา (๒) กำลัง คือ ความเพียร (๓) กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ (๔) กำลัง คือ การสงเคราะห์ 

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นอย่างไร ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมดำ นับว่าเป็นธรรมดำ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมขาว นับว่าเป็นธรรมขาว ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง ประพฤติได้ด้วยปัญญา ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กำลัง คือ ปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็กำลัง คือ ความเพียรเป็นอย่างไร ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมดำ นับว่าเป็นธรรมดำ ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ บุคคลย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมขาว นับว่าเป็นธรรมขาว ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นอริยะ บุคคลย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อให้ได้ธรรมเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กำลัง คือ ความเพียร ภิกษุทั้งหลาย ! ก็กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษเป็นอย่างไร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ ภิกษุทั้งหลาย ! ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นอย่างไร ได้แก่ สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ คือ (๑) ทาน (การให้) (๒) เปยยวัชชะ (การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก) (๓) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) (๔) สมานัตตตา (ความมีตนเสมอกัน) ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก ภิกษุทั้งหลาย ! การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในสีลสัมปทา ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี พระอนาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์ นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เรียกว่ากำลัง คือ การสงเคราะห์ ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลคือ กำลัง ๔ ประการ ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ คือ (๑) อาชีวิตภัย {๑} (ภัยอันเนื่องด้วยชีวิต) (๒) อสิโลกภัย (ภัยคือการติเตียน) (๓) ปริสสารัชภัย (ภัยคือความครั่นคร้ามในบริษัท) (๔) มรณภัย (ภัยคือความตาย) (๕) ทุคติภัย (ภัยคือทุคติ) ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต ไฉนเราจักต้องกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเล่า เพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนมีการงานทางกาย ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวภัยคือทุคติ เราไม่กลัวต่อภัยคือการติเตียน ... เราไม่กลัวต่อภัยคือความครั่นคร้ามในบริษัท ... เราไม่กลัวต่อภัยคือความตาย ... เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักต้องกลัวต่อภัยคือทุคติเล่า เพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทราม จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนเกียจคร้าน จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนมีการงานทางกาย ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวภัยคือทุคติ ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการเหล่านี้ ๑. ไตรปิฎกฉบับมอญ มีบาลีคำนี้ว่า อาชีวิกภยํ ซึ่งแปลว่า ภัยอันเนื่องด้วยการเลี้ยงชีพ

นวก. อํ. ๒๓/๔๓๙/๒๐๙.

อริยบุคคลจะเจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ

 อริยบุคคลจะเจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ

วาเลนไทน์ เด...รัจฉานวิชา



ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้า {๑} ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้าเป็นอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่ามิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็มิจฉาอาชีวะเป็นอย่างไร คือ การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ นี้มิจฉาอาชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัมมาอาชีวะเป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ {๒} เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่างหนึ่ง สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ {๓} เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นอย่างไร. ภิกษุทั้งหลาย ! ความงด ความเว้น เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค. ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ. ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมา-อาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ. ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้า ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้าอย่างไร คือ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมา-กัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมา-ญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐. ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้า ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นธรรมนำหน้าอย่างไร คือ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฏฐิได้ ทั้งอกุศลธรรมอันเป็นบาปเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉา-ทิฏฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฏฐิสลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้... ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้... ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้... ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้... ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้... ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้... ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้... ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้... ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมเป็นบาปเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยประการนี้แล จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ {๔} อันเราให้เป็นไปแล้ว สมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียนคัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว. ถ้าใครติเตียนสัมมาทิฏฐิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาสังกัปปะ ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาวาจา ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉากัมมันตะ ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาอาชีวะ ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาวายามะ ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาสติ ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาสมาธิ ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาญาณะ ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีมิจฉาวิมุตติ. ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะชาวอุกกลชนบท ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ {๕} ก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ นั่นเพราะเหตุไร เพราะกลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ. ๑. ธรรมนำหน้า = ธรรมที่เริ่มมีมาก่อน (ปุทงฺคม) ๒. สาสวะ = ประกอบด้วยอาสวะ, ยังมีอาสวะ ๓. อนาสวะ = ไม่มีอาสวะ ๔. มหาจัตตารีสกะ ธัมมะปริยายะ (มหาจตฺตารีสก ธมฺมปริยาย) ๕. อเหตุกวาทะ = ผู้มีวาทะว่า เหตุไม่มี, อกิริยวาทะ = ผู้มีวาทะว่า การกระทำไม่มี, นัตถิกวาทะ = ผู้มีวาทะว่า ขาดสูญ

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๑๘๑/๒๗๔.

คู่บุพเพสันนิวาส

 คู่บุพเพสันนิวาส

ชุดโกโกวา ให้พุทธวจน





ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้         มีศรัทธาเสมอกัน         มีศีลเสมอกัน         มีจาคะเสมอกัน         มีปัญญาเสมอกัน     ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ.

ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.


-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๑/๕๖.


ความสงสัยในทานของเทวดา

เทวดาทูลถามว่า บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมตะ. เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม ปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำ ทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์.

-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๔๔/๑๓๗. -บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๔๖/๑๔๕.

ผลของทานกับผู้รับ

 ผลของทานกับผู้รับ

อย่าท้อถอยในทานเลยน้า ชาวพุทธ



อานนท์ ! บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณานับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกพุทธะ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ. อานนท์ ! ก็ทักษิณาที่ให้แล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๒ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๔ แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๕ {๑} แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๖ แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๗ อานนท์ ! ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะ (จีวร) พันคอ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น. อานนท์ ! ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (การถวายเจาะจงบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย. อานนท์ ! ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นอย่างไร คือ (๑) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) (๒) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (๓) ทักษิณาบางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ (๔) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์. อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร. อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก. อานนท์ ! นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) (๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดีเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีลทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์ (๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดีเชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่ามีผลไพบูลย์ (๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรมมีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย. ๑. หมายเหตุ : เป็นข้อสังเกตให้ทราบว่า ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์นั้นจะมีภิกษุหรือภิกษุณีจำนวนกี่รูปก็ได้ -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๘/๗๑๑.

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

ทิศ ไม่ใช่ ทิด



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”. คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :- พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า), พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา), พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง), พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย), พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ), พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน). หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน     (๒) เราจักทำกิจของท่าน     (๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล     (๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท     (๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ห้ามเสียจากบาป     (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี     (๓) ให้ศึกษาศิลปะ     (๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร     (๕) มอบมรดกให้ตามเวลา     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ     (๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้     (๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง     (๔) ด้วยการปรนนิบัติ     (๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) แนะนำดี     (๒) ให้ศึกษาดี     (๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง     (๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย     (๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ด้วยการยกย่อง     (๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น     (๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ     (๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้     (๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) จัดแจงการงานดี     (๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี     (๓) ไม่ประพฤตินอกใจ     (๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่     (๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ด้วยการให้ปัน     (๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ     (๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์     (๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน     (๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว     (๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว     (๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย     (๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย     (๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง     (๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล     (๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้     (๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้     (๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย     (๒) เลิกงานทีหลังนาย     (๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้     (๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด     (๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ด้วยเมตตากายกรรม     (๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม     (๓) ด้วยเมตตามโนกรรม     (๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ)     (๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :-     (๑) ห้ามเสียจากบาป     (๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี     (๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม     (๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง     (๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด     (๖) บอกทางสวรรค์ให้     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๕/๑๗๔.