เอหิปัสสิโก บทสวดระลึกถึงพระธรรม

 เอหิปัสสิโก (บทสวดระลึกถึงพระธรรม)

SQUID GAME A E I O U



ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง อะกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด โอปะนะยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๗/๑๔๑๒.

การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด

การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด

บั้งไฟพญานาค



อานนท์ ! เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก, จักนอน (ประทับสีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ, ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น; เพื่อบูชาตถาคตเจ้า). อานนท์ ! การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่. อานนท์ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติ ตามธรรมอยู่; ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด. อานนท์ ! เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า “เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.

ผู้ฉลาดในเรื่องวิบากแห่งกรรม

 ผู้ฉลาดในเรื่องวิบากแห่งกรรม

ช่างแซะ



บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หามิได้; จะมิใช่พราหมณ์ เพราะชาติก็หามิได้ : บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรม; ไม่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม. บุคคลเป็นชาวนา ก็เพราะกรรม; เป็นศิลปิน ก็เพราะกรรม, บุคคลเป็นพ่อค้า ก็เพราะกรรม; เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม, บุคคลแม้เป็นโจร ก็เพราะกรรม; เป็นนักรบ ก็เพราะกรรม, บุคคลเป็นปุโรหิต ก็เพราะกรรม; แม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม,

บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมเห็นซึ่งกรรมนั้น ตามที่เป็นจริงอย่างนี้. ชื่อว่า เป็นผู้เห็นซึ่งปฏิจจสมุปบาท เป็นผู้ฉลาดในเรื่องวิบากแห่งกรรม. โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นเครื่องรึงรัด เหมือนลิ่มสลักขันยึดรถที่กำลังแล่นไปอยู่ ...

-บาลี สุ. ขุ. ๒๕/๔๕๗/๓๘๒.

ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

 ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบ

Russell Crowe






ภิกษุทั้งหลาย ! ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ แม้จะร้องอยู่ว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ก็ตามที แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่ มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ ร้องเอาเองว่า “กู ก็เป็นโค กู ก็เป็นโค” ดังนี้ เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบางรูปในกรณีเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ แม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศอยู่ว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้ ก็ตามที แต่ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้น ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศเอาเองว่า “ข้า ก็เป็นภิกษุ ข้า ก็เป็นภิกษุ” ดังนี้เท่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๔/๕๒๒.

ผู้ชี้ขุมทรัพย์ !

 ผู้ชี้ขุมทรัพย์ !

ผู้ชี้ขุมทรัพย์




อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอมเหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่ อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้. คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย.


-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๕/๓๕๖. -บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๒๕/๑๖.

เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค 3 อย่าง

เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค 3 อย่าง

นามบัตรเจ Squid Game parody


    ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม
พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์
ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
    ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้
ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
        เนื้อที่ตนเห็น
        เนื้อที่ตนได้ยิน
        เนื้อที่ตนรังเกียจ
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล
    
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
        เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
        เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
        เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
    ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์หน้าที่ ๔๒ข้อที่ ๕๖ - ๕๗

การเวียนเกิดที่แสนยาวนาน

 การเวียนเกิดที่แสนยาวนาน

Squid Game parody



ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ. ภิกษุทั้งหลาย ! เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบา แล้ววางไว้ สมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา โดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๒/๔๒๑.