การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด

 การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด

กรรม ไม่ใช่ กล้อง



ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม มีอยู่แก่ผู้ใด เรากล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ในอริยวินัย. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขานี้ ว่าเป็นการกู้หนี้. เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตของเขาเขาตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา เรากล่าวการปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้. เพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภเขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ ทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไรๆ(ทุจริต) อย่างนี้” เรากล่าวการถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกทวงหนี้. เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันเป็นบาปประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อมเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา เรากล่าวอาการอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกติดตามเพื่อทวงหนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมถูกจองจำอยู่ในนรกบ้าง ในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจำอื่นแม้อย่างเดียว ที่ทารุณอย่างนี้ เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรกหรือในกำเนิดเดรัจฉานอย่างนี้.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๓/๓๑๖.

ฉลาดในเรื่องกรรม

 ฉลาดในเรื่องกรรม

ปล่อยให้กรรมจัดการ 01
ปล่อยให้กรรมจัดการ 02





บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หามิได้; จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หามิได้ : บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรม; ไม่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม, บุคคลเป็นชาวนา ก็เพราะกรรม; เป็นศิลปิน ก็เพราะกรรม, บุคคลเป็นพ่อค้า ก็เพราะกรรม; เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม, บุคคลแม้เป็นโจร ก็เพราะกรรม; เป็นนักรบ ก็เพราะกรรม, บุคคลเป็นปุโรหิต ก็เพราะกรรม; แม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม, บัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นซึ่งกรรมนั้น ตามที่เป็นจริงอย่างนี้. ชื่อว่าเป็นผู้เห็นซึ่งปฏิจจสมุปบาท เป็นผู้ฉลาดในเรื่องวิบากแห่งกรรม.

โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม. สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นเครื่องรึงรัด เหมือนลิ่มสลักขันยึดรถที่กำลังแล่นไปอยู่. สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น.

-บาลี สุ. ขุ. ๒๕/๔๕๗/๓๘๒. -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.

ข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นกรรม

 ข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นกรรม

แก้กรรม



ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดง จักจำแนก ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) แก่เธอทั้งหลาย. เธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ เราจักกล่าว. ภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) เป็นอย่างไรเล่า ? ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาทิฏฐิ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่มุ่งร้าย ความดำริในการไม่เบียดเบียน. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสังกัปปะ. ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวาจา. ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมากัมมันตะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! สาวกของพระอริยเจ้าในกรณีนี้ ละการหาเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาอาชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดแห่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวายามะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสติ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตก วิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และย่อมเสวยสุขด้วยกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่; เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสมาธิ.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๐/๓๓. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๒/๔๑.

เหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

 เหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

เหตุให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน



สุภมาณพ โตเทยยบุตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต”. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาณพ ! สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้.

“ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อมิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ! ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความแห่งอุเทศนี้โดยพิสดารด้วยเถิด”. มาณพ ! ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป :- สุภมาณพ โตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า “ชอบแล้ว พระเจ้าข้า ! ”. พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น.

มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้นนี้คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก.

มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา.
มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีศักดาน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉา ในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น.
มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีโภคะน้อย.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนกระด้างเย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ.
มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะ แก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว สอบถามว่าอะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว สอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. มาณพ ! ด้วยประการฉะนี้แล ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความมีโรคมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก. มาณพ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า :- “แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า ! แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า ! พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ. ขอพระโคดมผู้เจริญ ! จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.

ผู้เชื่อฟังพระตถาคต จะได้รับประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน

 ผู้เชื่อฟังพระตถาคต จะได้รับประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน

ประตูนครแห่งความไม่ตาย



ภิกษุ ท. ! เราแล เป็นผู้ฉลาดในเรื่องโลกนี้ ฉลาดในเรื่อง โลกอื่น, เป็นผู้ฉลาดต่อ วัฎฎะอันเป็นที่อยู่ของมาร ฉลาดต่อ วิวัฎฎะอันไม่เป็นที่อยู่ของมาร, เป็นผู้ฉลาดต่อ วัฎฎะอันเป็นที่อยู่ของมฤตยู ฉลาดต่อ วิวัฎะอันไม่เป็นที่อยู่ของมฤตยู. ชนเหล่าใดถือว่าเรื่องนี้ควรฟังควรเชื่อ ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นสิ้นกาลนาน. (ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้แล้ว พระสุคตได้ตรัสคำอื่นอีกดังนี้ว่า :-) ทั้งโลกนี้แลโลกอื่น ตถาคตผู้ทราบดีอยู่ ได้ประกาศไว้ชัดแจ้งแล้ว. ทั้งที่ที่มารไปไม่ถึง และที่ที่มฤตยูไปไม่ถึง ตถาคตผู้รู้ชัดเข้าใจชัด ได้ประกาศไว้ชัดแจ้งแล้ว เพราะความรู้โลกทั้งปวง. ประตูนครแห่งความไม่ตาย ตถาคตเปิดโล่งไว้แล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงถิ่นอันเกษม. กระแสแห่งมารผู้มีบาป ตถาคตปิดกั้นเสียแล้ว กำจัดเสียแล้ว ทำให้หมดพิษสงแล้ว. ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากมูมด้วยปราโมทย์ ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะเถิด.

    บาลี จูฬโคปาลสูตร มู. ม. ๑๒/๔๒๑/๓๙๑.

ทรงแน่พระทัยว่าไม่อาจตรัสรู้เพราะการทำทุกรกิริยา

 ทรงแน่พระทัยว่าไม่อาจตรัสรู้เพราะการทำทุกรกิริยา

ทรงแน่พระทัยว่าไม่อาจตรัสรู้เพราะการทำทุกรกิริยา



สารีบุตร ! ด้วยอิริยา ๑ (เครื่องออกไปจากข้าศึก) แม้ชนิดนั้น ด้วยปฏิปทาชนิดนั้น ด้วยทุกรกิริยาชนิดนั้น, เราไม่ได้บรรลุแล้วซึ่งอลมริยญาณทัสสนวิเสส ที่ยิ่งไปกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์เลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีการถึงทับซึ่งอริยปัญญา อันเป็นอริยปัญญาที่ถึงทับแล้ว จักเป็นนิยยานิกธรรมอันประเสริฐ นำผู้ปฏิบัติตามนั้นให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นั่นเทียว.

    บาลี มหาสีหนาทสูตร มู. ม. ๑๒/๑๖๒/๑๘๖.


หมายเหตุ : ข้อความเหล่านี้แสดงถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทรง กระทำทุกรกิริยาทุกรูปแบบแล้ว ทรงเห็นว่าไม่เป็นทางตรัสรู้ ก็ทรงเลิกเสีย, ทรงกลับ พระทัยฉันอาหารหยาบ เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป. - ผู้รวบรวม

_______________

๑. อิริยา คำนี้ถือเอาตามพระบาลีในปาสราสิสูตร ม. ม. และโพธิกุมารสูตร ม. ม. ซึ่งเป็นอิริยาย ตรงกัน ; ส่วนบาลี มหาสีหนาทสูตร นี้เป็น อิริยา.

คุณธรรมของผู้ต่ำกว่าโสตาปัตติมรรค และเป็นเหตุให้ไม่ไปสู่อบายในชาตินั้น

 คุณธรรมของผู้ต่ำกว่าโสตาปัตติมรรค

และเป็นเหตุให้ไม่ไปสู่อบายในชาตินั้น

บ่ เฮาเลิกบ่ ได้



ลักษณะของผู้ไม่ไปสู่อบาย (นัยที่ ๑) มหาราช ! ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลมและไม่ประกอบด้วยวิมุตติ แต่ว่าเขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ และธรรมทั้งหลาย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมทนต่อการเพ่งด้วยปัญญาของเขา (ยิ่ง) กว่าประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดเดรัจฉาน วิสัยแห่งเปรต อบาย ทุคติ วินิบาต. ลักษณะของผู้ไม่ไปสู่อบาย (นัยที่ ๒) มหาราช ! ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลมและไม่ประกอบด้วยวิมุตติ แต่ว่าเขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธา มีความรักในพระตถาคตพอประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดเดรัจฉาน วิสัยแห่งเปรต อบาย ทุคติ วินิบาต.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๗๓/๑๕๓๔. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๗๓/๑๕๓๕.

อักโกสกสูตรที่ ๒

อักโกสกสูตรที่ ๒


ไม่บริโภคร่วม



[๖๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ
    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ
[๖๓๒] เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและ อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ
    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยว ของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือ ไม่ ฯ
    อ. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและ อำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างในบางคราว ฯ
    พ. ดูกรพราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ
    อ. พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ
    พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูกรพราหมณ์ เรื่อง มีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่าน ผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ฯ
    อ. บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญ อย่างนี้ว่าพระสมณโคดม เป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญ จึงยังโกรธอยู่เล่า ฯ
[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธ ตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตน และแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตน และของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลาดังนี้ ฯ
[๖๓๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านอักโกสกภารทวาชอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสก ภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ


    พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
    สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค หน้าที่ ๑๙๖ ข้อที่ ๖๓๒

การบริโภคกามคุณทั้ง ๕ อย่างไม่มีโทษ

 การบริโภคกามคุณทั้ง ๕ อย่างไม่มีโทษ

เนื้อที่นอนจมบ่วงแต่ไม่ติดบ่วง



ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณเหล่านี้มี ๕ อย่าง. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ :- รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ฟังด้วยหู, กลิ่นที่ดมด้วยจมูก, รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยผิวกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณมี ๕ อย่าง เหล่านี้แล. ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่; ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ แล้วแต่มารผู้มีบาปต้องการจะทำตามอำเภอใจอย่างใด ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบได้ดังเนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนจมอยู่ในกองบ่วง ในลักษณะที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่ามันจะถึงซึ่งความพินาศย่อยยับ เป็นไปตามความประสงค์ของพรานทุกประการ, เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหนีไปไหนไม่พ้นเลย ดังนี้, ฉันใดก็ฉันนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ๕ เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่ เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ บริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่; ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไปตามความประสงค์ของมารผู้มีบาปแต่อย่างใด ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง แม้นอนจมอยู่บนกองบ่วง มันก็เป็นสัตว์ที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่า เป็นสัตว์ที่ไม่ถึงความพินาศย่อยยับไปตามความประสงค์ของพรานแต่อย่างใด, เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหลีกหนีไปได้ตามที่ต้องการ ดังนี้, ฉันใดก็ฉันนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! (อีกอย่างหนึ่ง) เปรียบเหมือนเนื้อป่า เที่ยวไปในป่ากว้าง เดินอยู่ก็สง่างาม ยืนอยู่ก็สง่างาม หมอบอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม. เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่าเนื้อป่านั้นยังไม่มาสู่คลองแห่งจักษุของพราน, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน : สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงซึ่งปฐมฌาณ อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน-ตติยฌาน- จตุตถฌาน-อากาสานัญจายตนะ-วิญญาณัญจายตนะ- อากิญจัญญายตนะ-เนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยนัยเดียวกันกับการบรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป, จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ โดยข้อความสืบต่อไปว่า :-)

ภิกษุทั้งหลาย ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก : ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่. อนึ่ง เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็สิ้นไปรอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอด ไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมารไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น, ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก. ภิกษุนั้นยืนอยู่ก็สง่างาม เดินอยู่ก็สง่างาม นั่งอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม. เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นไม่ได้มาสู่คลองแห่งอำนาจของมารผู้มีบาป, ดังนี้แล.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๓๓๑/๓๒๗.

ความมีขึ้นแห่งภพ แม้มีอยู่ชั่วขณะก็น่ารังเกียจ

 ความมีขึ้นแห่งภพ แม้มีอยู่ชั่วขณะก็น่ารังเกียจ

POPCAT ภพ=คูถ




ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีประมาณน้อย ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้. (ในสูตรถัดไป ได้ตรัสอุปมาด้วยมูตร ด้วยน้ำลาย ด้วยหนอง ด้วยโลหิต โดยทำนองเดียวกัน เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๔.)

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๓.

แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน

แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน

เอาเหรียญ ไม่เอากระทะทองแดง


อานนท์ ! เราจักแสดง ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ในข้อที่ตนเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว, ในข้อที่ตนเป็นพระโสดาบันผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า ดังนี้. อานนท์ ! ก็ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรมในที่นี้ เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหวในองค์พระพุทธเจ้า... ในองค์พระธรรม... ในองค์พระสงฆ์... และอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า คือ เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ.

อานนท์ ! ธรรมปริยายอันนี้แล ที่ชื่อว่าแว่นธรรมซึ่งหากอริยสาวกผู้ใดได้ประกอบพร้อมแล้ว เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้, ดังนี้แล.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๐/๑๔๗๙ -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๑/๑๔๗๙

คนทิ้งธรรม

คนทิ้งธรรม

คนทิ้งธรรม หอกปาก



    ภิกษุ ท. ! ในทิศใด พวกภิกษุ เกิดแก่งแย่ง ทะเลาะวิวาททิ่มแทงกันและกันด้วยหอกปากอยู่; ภิกษุ ท. ! ทิศนั้น แม้แต่เพียงนึกถึงก็ไม่เป็นที่ผาสุกแก่เราเสียแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงการไปในที่นั้น. ในกรณีนี้ เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะภิกษุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรมสามอย่างเสียแล้วพากันมาถือ กระทำให้มากในธรรมสามอย่าง. ธรรมสามอย่างอะไรบ้างเล่าที่เธอละทิ้งเสีย? สามอย่าง คือ :-
    (๑) ความตรึกในการหลีกออกจากความพัวพันในกาม,
    (๒) ความตรึกในการทำความไม่มุ่งร้าย,
    (๓) ความตรึกในการไม่ทำคนอื่นให้ลำบาก.
    ธรรมสามอย่างเหล่านี้ แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้น ละทิ้งเสียแล้ว.
    ก็ธรรมอีกสามอย่างอะไรบ้างเล่าที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถือ กระทำเพิ่มพูนให้มาก ? สามอย่าง คือ :-
    (๑) ความตรึกในทางกาม,
    (๒) ความตรึกในทางมุ่งร้าย,
    (๓) ความตรึกที่ก่อให้เกิดความลำบากแก่ผู้อื่น.
    ธรรมสามอย่างเหล่านี้ แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถือ กระทำเพิ่มพูนให้มาก.
    ภิกษุ ท. ! ในทิศใด พวกภิกษุ เกิดแก่งแย่ง ทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกปากอยู่ ; ภิกษุ ท. ! ทิศนั้น แม้แต่เพียงนึกถึงก็ไม่เป็นที่ผาสุกแก่เราเสียแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงการไปในที่นั้น. ในกรณีนี้ เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะพวกภิกษุเหล่านั้น ละทิ้งธรรมสามอย่างเหล่าโน้นเสียแล้ว และพากันมาถือ กระทำให้มากในธรรมสามอย่างเหล่านี้แทน.

    -บาลี พระพุทธภาษิต ติก. อํ. ๒๐/๓๕๕/๕๖๔.

วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง (สจฺจานุรกฺขณา)

 วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง (สจฺจานุรกฺขณา)

ไฟเซอร์ ไผเช่อ



“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง (สจฺจานุรกฺขณา) นั้น มีได้ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? บุคคลจะตามรักษาไว้ซึ่งความจริงนั้นได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงวิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง”. ภารท๎วาชะ ! แม้ ความเชื่อ ของบุรุษ มีอยู่และเขาก็ ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ... ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความชอบใจ ของบุรุษ มีอยู่และเขาก็ ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความชอบใจอย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ เรื่องที่ฟังตามๆ กันมา ของบุรุษ มีอยู่และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า“ข้าพเจ้ามีเรื่องที่ฟังตามๆ กันมาอย่างนี้” ดังนี้,เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า“อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ... ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อม ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อมอย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าพึงถึงการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ... ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ข้อยุติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็น ของบุรุษ มีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีข้อยุติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็นอย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน.

ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี, บุคคลชื่อว่า ย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้; แต่ว่านั่นยังไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง.

-บาลี ม. ม. ๑๓/๖๐๑-๖๐๕/๖๕๕.