อักโกสกสูตรที่ ๒
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ
[๖๓๒] เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและ อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยว ของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือ ไม่ ฯ
อ. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและ อำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างในบางคราว ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ
อ. พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูกรพราหมณ์ เรื่อง มีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่าน ผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ฯ
อ. บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญ อย่างนี้ว่าพระสมณโคดม เป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญ จึงยังโกรธอยู่เล่า ฯ
[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธ ตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตน และแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตน และของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลาดังนี้ ฯ
[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธ ตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตน และแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตน และของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลาดังนี้ ฯ
[๖๓๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านอักโกสกภารทวาชอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสก ภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค หน้าที่ ๑๙๖ ข้อที่ ๖๓๒
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค หน้าที่ ๑๙๖ ข้อที่ ๖๓๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น