เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน


copy คำศาสดาสิ





    ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก,
    เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
    ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา,
    เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.
    ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย !
    ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา); จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.

เหตุให้ศาสนาเสื่อม

เหตุให้ศาสนาเสื่อม

ไทม์ไลน์ ทำลาย




    ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. ๔ ประการ อะไรบ้างเล่า ? ๔ ประการคือ :-
    (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุ เล่าเรียนสูตร อันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด; เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สอง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่บอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลายก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก (อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุชั้นเถระ ทำการสะสมบริกขาร ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ผู้บวชในภายหลังได้เห็นพวกเถระเหล่านั้นทำแบบแผนเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง จึงทำให้เป็นผู้ทำการสะสมบริกขารบ้าง ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ตามกันสืบไป.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สี่ ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

    -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.

ผู้สอบทานตัวเอง

 ผู้สอบทานตัวเอง

ไทม์ไลน์ ทำไร




    ภิกษุ ท. ! ข้อสอบทานสิบอย่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ. สิบอย่างอะไรบ้างเล่า ? สิบอย่างคือ :-
    (๑) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว, (อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ)”.
    (๒) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น, (เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย)”.
    (๓) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “อาการกายวาจาอย่างอื่น ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีก, (ไม่ใช่เพียงเท่านี้)”.
    (๔) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเอง โดยศีลได้หรือไม่”.
    (๕) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเรา โดยศีลได้หรือไม่”.
    (๖) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “เราจะต้องพลัดพรากจากของ รักของชอบใจทั้งนั้น”.
    (๗) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำดีก็ตามทำชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”.
    (๘) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่”.
    (๙) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “เรายินดียิ่ง ในเรือนว่างหรือไม่”.
    (๑๐) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า “ปัญญาเครื่องรู้เห็นพิเศษที่สามารถจะทำความเป็นอริยะอันยิ่งกว่ามนุษยธรรม ที่เราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ซึ่งจะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเวลาที่ถูกเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันถามในกาลภายหลัง”.
    ภิกษุ ท. ! ข้อสอบทานสิบอย่างเหล่านี้แล เป็นสิ่งที่นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ.

    ทสก. อํ. ๒๔/๙๑/๔๘.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

 ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา


เหม็นน้ำมัน..เมินน้ำมนต์


คริสเตียโนน้ำอัดลม พุทธต้องโนน้ำมนต์


มหาราช ! อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศัสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่งเมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่าพระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักโคจรผิดทาง ดาวนักษัตรจักโคจรถูกทาง ดาวนักษัตรจักโคจรผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร จักขึ้น จักตก จักมัวหมอง จักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์โคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรโคจรผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง กระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำนายว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีอาหารหาได้ง่าย จักมีอาหารหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือคำนวณฤกษ์ยาม คำนวณดวงชะตา จับยาม แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาแก้ลมตีขึ้นเบื้องบน ปรุงยาแก้ลมตีลงเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทาให้กัด ปรุงยาทาให้สมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. มหาราช ! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้นเปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก {๑} . กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น. มหาราช ! ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน. มหาราช ! ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

๑. นํ้ารดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ

-บาลี สามัญผลสูตร สี. ที. ๙/๘๙/๑๑๔.

ทำไมคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน แต่รับวิบากกรรมต่างกัน

ทำไมคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน

แต่รับวิบากกรรมต่างกัน

ใจไม่แคบ



ภิกษุทั้งหลาย ! ใครพึงกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ ส่วนใครกล่าวว่าคนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย ที่บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ บาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (ให้ผลในภพปัจจุบัน) ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย.

บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไร ทำแล้ว บาปกรรมนั้น จึงนำเขาไปนรกได้ ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายมิได้อบรม มีศีลมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรม มีคุณความดีน้อย เป็นอัปปาตุมะ (ผู้มีใจคับแคบ ใจหยาบ ใจต่ำทราม) เป็นอัปปทุกขวิหารี (มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย คือเป็นคนเจ้าทุกข์) บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้. บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไร ทำแล้ว กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายได้อบรมแล้ว มีศีลได้อบรมแล้ว มีจิตได้อบรมแล้ว มีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณความดีมาก เป็นมหาตมะ (ผู้มีใจกว้างขวาง ใจบุญ ใจสูง) เป็นอัปปมาณวิหารี (มีปกติอยู่ด้วยธรรม อันหาประมาณมิได้คือเป็นคนไม่มีหรือไม่แสดงกิเลส ซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาประมาณได้ว่าเป็นคนดีแค่ไหน) บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้น จะกลายเป็นน้ำเค็มไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ? “เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า ! ”. เพราะเหตุไร ?เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำนั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้...เพราะเกลือก้อนนั้น. ต่างว่า คนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้น ลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ ? “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า ! ”. เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็ม...เพราะเกลือก้อนนั้น. ฉันนั้นนั่นแหละ.

ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย... ภิกษุทั้งหลาย ! คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ... แม้ ๑ กหาปณะ... แม้ ๑๐๐ กหาปณะ ส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น คนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย คนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ. ฯลฯ คนอย่างไรไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ? คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก คนอย่างนี้ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ฉันนั้นนั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

ภิกษุทั้งหลาย ! พรานแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนอาจฆ่า มัด ย่างหรือทำตามประสงค์ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้ บางคนไม่อาจทำอย่างนั้น พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร จึงอาจฆ่า มัด ย่าง หรือทำตามประสงค์ ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้ ? บางคนเป็นคนยากจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ อาจฆ่า ฯลฯ ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้. พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร ไม่อาจทำอย่างนั้น ? บางคนเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ไม่อาจทำอย่างนั้น มีแต่ว่าคนอื่นจะประณมมือขอกะเขาว่าท่านผู้นิรทุกข์ ท่านโปรดให้แกะหรือทรัพย์ค่าซื้อแกะแก่ข้าพเจ้าบ้าง ดังนี้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคล บางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย... ภิกษุทั้งหลาย ! ใครกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้นๆ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๒๐/๕๔๐.

วิบากของผู้ทุศีล (ดื่มสุรา)

วิบากของผู้ทุศีล









    ภิกษุทั้งหลาย ! ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อมีอายุสั้น. 
    ภิกษุทั้งหลาย ! อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งโภคะ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อก่อเวรด้วยศัตรู.
    ภิกษุทั้งหลาย ! มุสาวาท (คำเท็จ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ปิสุณวาท (คำยุยงให้แตกกัน) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งปิสุณวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการแตกจากมิตร.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! สัมผัปปลาปะ (คำเพ้อเจ้อ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งสัมผัปปลาปะของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อวาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า (อุมฺมตฺตก).

        -บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๕๑/๑๓๐.

ความต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้ไม่ให้

ความต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้ไม่ให้



ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต



    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งเป็นผู้ไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน จักมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! คนทั้งสองนั้นจักมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์.
    สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์. สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
    (๑) เธอใช้สอยจีวร ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน
ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๒) เธอฉันบิณฑบาต ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน
ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ฉันนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๓) เธอใช้สอยเสนาสนะ ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน
ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๔) เธอบริโภคยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้บริโภคนั้นเป็นส่วนน้อย
    (๕) เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใดเพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย
    สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ ด้วยเหตุ
๕ ประการนี้.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
    สุมนา ! ข้อนี้ เราไม่กล่าวว่า มีความพิเศษแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติกับวิมุตติ.
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้กำหนดได้ว่า บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
    อย่างนั้น สุมนา ! อย่างนั้น สุมนา !
    บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
    
    (คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
    ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ (การบริจาค) เมฆที่ลอยไปตาม อากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคะ ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ดังนี้.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๔/๓๑.