จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอเป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม; ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง. ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ? สี่ประการคือ :-
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และ
ความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป



(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”. อานนท์ ! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า : โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๘๗/๙๖๒.

ทุกข์ที่เกิดจากหนี้

ทุกข์ที่เกิดจากหนี้

ทุกข์ที่เกิดจากหนี้



ภิกษุทั้งหลาย ! ความยากจน เป็นทุกข์ของคนผู้บริโภคกามในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ย่อมกู้หนี้, การกู้หนี้ นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ กู้หนี้แล้ว ต้องใช้ดอกเบี้ย,การต้องใช้ดอกเบี้ย นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ กู้หนี้แล้วต้องใช้ดอกเบี้ย ไม่อาจใช้ดอกเบี้ยตามเวลา เจ้าหนี้ก็ทวง, การถูกทวงหนี้ นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ถูกทวงหนี้อยู่ ไม่อาจจะใช้ให้เจ้าหนี้ย่อมติดตาม, การถูกติดตาม นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ถูกติดตามอยู่ไม่อาจจะใช้ให้ เจ้าหนี้ย่อมจับกุม, การถูกจับกุมนั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! ความยากจน ก็ดี, การกู้หนี้ ก็ดี, การต้องใช้ดอกเบี้ย ก็ดี, การถูกทวงหนี้ ก็ดี, การถูกติดตาม ก็ดี, การถูกจับกุม ก็ดี, ทั้งหมดนี้ เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น: ความไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา, ในกุศลธรรมมีอยู่แก่ผู้ใด; เรากล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ในอริยวินัย. ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา, ในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต, เรากล่าว การประพฤติทุจริต ของเขานี้ ว่าเป็น การกู้หนี้.
เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตของเขา เขาตั้งความปรารถนาลามก ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา, เรากล่าว การปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ว่าเป็น ดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้. เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภ เขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้”, เรากล่าว การถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็น การถูกทวงหนี้. เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันลามกประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อม เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา, เรากล่าว อาการอย่างนี้ ว่าเป็น การถูกติดตาม เพื่อทวงหนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติกาย วจี มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อม ถูกจองจำอยู่ในนรก บ้าง ในกำเนิดเดรัจฉาน บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจำอื่น แม้อย่างเดียวที่ทารุณอย่างนี้ เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดเดรัจฉานอย่างนี้. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) ความยากจนและการกู้หนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ในโลก. คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง. การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของคนบูชาการได้กาม. ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน :
ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ สั่งสมแต่บาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิตเพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา, ผู้นั้น พอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ. คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจน กู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน. ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขา ทั้งในบ้านและในป่า. คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำอยู่ในนรก. การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์ ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๒/๓๑๖. -บาลี สี. ที. ๙/๑๑๒/๑๓๙.

เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัส

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

April Fool's Day


เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า




ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.
ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

หากไม่สนใจคำตถาคต จะทำให้เกิดความอันตรธานของคำตถาคต เปรียบด้วยกลองศึก ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่ เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ, พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น; ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย, สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

พระองค์ทรงสามารถกำหนดสมาธิเมื่อจะพูดทุกถ้อยคำ จึงไม่ผิดพลาด อัคคิเวสนะ ! เรานั้นหรือ จำเดิมแต่เริ่มแสดง กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิตอันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีจิตเป็นเอกดังเช่นที่คนทั้งหลายเคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำ ดังนี้.

คำพูดที่ตรัสมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้นั้น สอดรับไม่ขัดแย้งกัน ภิกษุทั้งหลาย ! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใด ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย.

แต่ละคำพูดเป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริง ไม่จำกัดกาลเวลา
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลายเป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฐิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ).

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป
อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล.

ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือตัดทอนสิ่งที่บัญญัติไว้
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด, ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒., -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒,
-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๖๐/๔๓๐., -บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.
-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๑., -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.,
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๑๗/๗๔๐.,-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๑/๒๑.

บทสวด ปฏิจจสมุปบาท

บทสวด ปฏิจจสมุปบาท

บทสวด ปฏิจจสมุปบาท



อิธะ ภิกขะเว อะริยะสาวะโก ปะฏิจจะสะมุปปาทัญเญวะ สาธุกัง โยนิโส มะนะสิกะโรติ ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า อิมัส๎มิง สะติ อิทัง โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น อิมัส๎มิง อะสะติ อิทัง นะ โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌะติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป ยะทิทัง ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ อะวิชชาปัจจะยา สังขารา เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ผัสสะปัจจะยา เวทะนา เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เวทะนาปัจจะยา ตัณหา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน อุปาทานะปัจจะยา ภะโว เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ภะวะปัจจะยา ชาติ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ อะวิชชายะเต๎ววะ อเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร สังขาระนิโรธา วิญญาณะนิโรโธ เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
วิญญาณะนิโรธา นามะรูปะนิโรโธ เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป นามะรูปะนิโรธา สะฬายะตะนะนิโรโธ เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ สะฬายะตะนะนิโรธา ผัสสะนิโรโธ เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ ผัสสะนิโรธา เวทะนานิโรโธ เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา เวทะนานิโรธา ตัณหานิโรโธ เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
ตัณหานิโรธา อุปาทานะนิโรโธ เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน อุปาทานะนิโรธา ภะวะนิโรโธ เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ ภะวะนิโรธา ชาตินิโรโธ เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ ชาตินิโรธา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา นิรุชฌันติ เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลายจึงดับสิ้น
เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหตีติ ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๘๕/๑๕๙.

ผู้รู้อริยสัจเป็นหลักอยู่ในใจ ย่อมไม่มีอาการสั่นสะเทือนเพราะถูกยกวาทะ : ดุจเสาหิน

ผู้รู้อริยสัจเป็นหลักอยู่ในใจย่อมไม่มีอาการสั่นสะเทือนเพราะถูกยกวาทะ : ดุจเสาหิน

ดุจเสาหิน



ภิกษุ ท. ! ภิกษุรูปใด รู้อยู่ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.” ดังนี้นั้น ; แม้ว่าจะพึงมีบุคคลที่เป็นสมณะหรือพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องการจะโต้วาทะ เที่ยวแสวงคู่โต้วาทะ มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม โดยประกาศว่า “เราจักยกวาทะของภิกษุรูปนั้นเสีย” ดังนี้ ; ข้อที่สมณะหรือพราหมณ์นั้น จักทำภิกษุนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไป โดยถูกธรรมนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะเป็นไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุที่อริยสัจสี่นั้น เป็นธรรมที่ภิกษุนั้นเห็นแล้วด้วยดี. ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเสาหินยาว ๑๖ ศอก ฝังอยู่ในดิน ๘ ศอก โผล่ขึ้นพ้นดิน ๘ ศอก แม้จะมีลมพายุฝนอย่างแรงกล้า มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม ไม่พึงทำเสาหินนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะส่วนที่ฝังนั้นลึก และฝังเป็นอย่างดี ; ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนั้น ในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์นี้ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด. - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๕/๑๗๒๔

ตัณหา คือ “เชื้อแห่งการเกิด”

ตัณหา คือ “เชื้อแห่งการเกิด

ตัณหา คือ “เชื้อแห่งการเกิด”



วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้นสำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่
(สอุปาทานสฺส) ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน วัจฉะ ! เปรียบเหมือน ไฟที่มีเชื้อ ย่อมโพลงขึ้นได้ (อคฺคิ สอุปาทาโน ชลติ)
ที่ไม่มีเชื้อ ก็โพลงขึ้นไม่ได้ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้นสำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน
“พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าสมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล,
สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไรว่าเป็นเชื้อแก่เปลวไฟนั้นถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?” วัจฉะ ! สมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกลเราย่อมบัญญัติเปลวไฟนั้น ว่า มีลมนั่นแหละเป็นเชื้อ วัจฉะ ! เพราะว่า สมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น. “พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าสมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น, สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไร ว่าเป็นเชื้อแก่สัตว์นั้น ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?” วัจฉะ ! สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่นเรากล่าว สัตว์นี้ ว่า
มีตัณหานั่นแหละเป็นเชื้อ เพราะว่าสมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๘๕/๘๐๐.

ลำดับการหลุดพ้น เมื่อเห็นไตรลักษณ์

ลำดับการหลุดพ้น เมื่อเห็นไตรลักษณ์

ลำดับการหลุดพ้น เมื่อเห็นไตรลักษณ์



ภิกษุทั้งหลาย ! รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม) นั่นไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา) : เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้. (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป ทุกประการ). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้, ปุพพันตานุทิฏฐิ {๑} ทั้งหลาย ย่อมไม่มี; เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิไม่มี, อปรันตานุทิฏฐิ {๒} ทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
เมื่ออปรันตานุทิฏฐิไม่มี, ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี; เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี, จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ; ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น. เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่; เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี; เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง; เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว. เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว, กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

๑. ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องต้น หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของอดีต ๒. ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องปลาย หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของอนาคต

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๗/๙๓.

กระดองของบรรพชิต

กระดองของบรรพชิต

กระดองของบรรพชิต




ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาก่อน : เต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น, สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน, เต่าตัวนั้นได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากิน (เดินเข้ามา) แต่ไกล, ครั้นแล้วจึงหดอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า เข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่. แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่า ตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน, ครั้นแล้วจึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า “เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้น คร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง; ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : มารผู้ใจบาปก็คอยช่องต่อพวกเธอทั้งหลาย ติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า “ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู หรือ ทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด; ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด, อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย; สิ่งที่เป็นอกุศลธรรมอันเป็นบาป คือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, พวกเธอทั้งหลายจงรักษาและถึงความสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่; ในการนั้น มารผู้ใจบาป จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลาย และจักต้องหลีกไปเอง, เหมือนสุนัขจิ้งจอก ไม่ได้ช่องจากเต่า ก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่าหดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด, ภิกษุพึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง (กล่าวคือ อารมณ์แห่งการภาวนา) ฉันนั้น. เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้, ไม่เบียดเบียนผู้อื่น, ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด, เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้ แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๒/๓๒๐.

ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่

ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่



ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่





แม่ต้องท่องเที่ยวเพราะไม่รู้อริยสัจสี่





ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่อย่าง เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ :-
อริยสัจ คือ ทุกข์
อริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์
อริยสัจ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่ประการเหล่านี้แล, เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนาน ถึงเพียงนี้.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.

ปฏิจฉันนสูตร

ปฏิจฉันนสูตร

ปฏิจฉันนสูตร




ปฏิจฉันนสูตร




ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ
๓ อย่างเป็นไฉน คือ
- มาตุคาม ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผยไม่งดงาม
- มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง ๑
- มิจฉาทิฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่าง นี้แล ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
๓ อย่างเป็นไฉน คือ
- ดวงจันทร์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑
- ดวงอาทิตย์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑
- ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้แล เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๒๐สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตหน้าที่ ๒๗๐ข้อที่ ๕๗๑ - ๕๗๒

หน้าที่ 270