ผู้รู้อริยสัจเป็นหลักอยู่ในใจย่อมไม่มีอาการสั่นสะเทือนเพราะถูกยกวาทะ : ดุจเสาหิน
ภิกษุ ท. ! ภิกษุรูปใด รู้อยู่ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.” ดังนี้นั้น ; แม้ว่าจะพึงมีบุคคลที่เป็นสมณะหรือพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องการจะโต้วาทะ เที่ยวแสวงคู่โต้วาทะ มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม โดยประกาศว่า “เราจักยกวาทะของภิกษุรูปนั้นเสีย” ดังนี้ ; ข้อที่สมณะหรือพราหมณ์นั้น จักทำภิกษุนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไป โดยถูกธรรมนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะเป็นไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุที่อริยสัจสี่นั้น เป็นธรรมที่ภิกษุนั้นเห็นแล้วด้วยดี. ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเสาหินยาว ๑๖ ศอก ฝังอยู่ในดิน ๘ ศอก โผล่ขึ้นพ้นดิน ๘ ศอก แม้จะมีลมพายุฝนอย่างแรงกล้า มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม ไม่พึงทำเสาหินนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะส่วนที่ฝังนั้นลึก และฝังเป็นอย่างดี ; ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนั้น ในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์นี้ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๕/๑๗๒๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น