อุปมาความทุกข์ในนรก
ภิกษุทั้งหลาย ! ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นพาลของคนพาลนี้
มี ๓ อย่าง. ๓ อย่าง อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลในโลกนี้ มักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว มักทำการทำที่ชั่ว ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกขโทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มีปกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๑ ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก คนพาลเห็นพระราชาทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ :- (๑) โบยด้วยแส้บ้าง (๒) โบยด้วยหวายบ้าง (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง (๔) ตัดมือบ้าง (๕) ตัดเท้าบ้าง (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง (๗) ตัดหูบ้าง(๘) ตัดจมูกบ้าง (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง {๑} (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้น มีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย ถ้าแม้พระราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๒ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทำไว้ในก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความร้าย ทำแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ความร้าย และความเลว เป็นกำหนด คนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ระทมใจ คร่ำครวญ ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหลอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๓ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า เป็นสถานที่ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาถึงความทุกข์ในนรก ก็ไม่ใช่ง่ายนัก.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! อาจเปรียบได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแสดงแด่พระราชาว่า “ขอเดชะ ! ผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดลงอาชญาที่ทรงพระราชประสงค์แก่มันเถิด” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนี้ในเวลาเช้า” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเช้า ครั้นเวลากลางวัน พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิม พระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลากลางวัน” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็น พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิมพระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลาเย็น” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเย็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? บุรุษนั้น ถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม พึงเสวยทุกขโทมนัสเพราะการที่ถูกแทงนั้นเป็นเหตุบ้างหรือหนอ ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็เสวยทุกขโทมนัสเพราะเหตุที่ถูกแทงนั้นได้ ป่วยการกล่าวถึงหอกตั้งสามร้อยเล่ม.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า :-
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล ทุกขโทมนัสที่บุรุษกำลังเสวยเพราะการถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ เปรียบเทียบทุกข์ของนรกยังไม่ถึงแม้ความนับ ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๑๑/๔๖๘.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น