อนุตตริยะ ๖ (สิ่งที่ประเสริฐ ๖ ประการ)

อนุตตริยะ ๖ (สิ่งที่ประเสริฐ ๖ ประการ)

ทัสสนานุตตริยะ





ภิกษุทั้งหลาย ! อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการ เป็นอย่างไร คือ (๑) ทัสสนานุตตริยะ (๒) สวนานุตตริยะ (๓) ลาภานุตตริยะ (๔) สิกขานุตตริยะ (๕) ปาริจริยานุตตริยะ (๖) อนุสสตานุตตริยะ (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้ นั้นแลเป็นกิจเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นตถาคต หรือสาวกตถาคตการเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธา ไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นตถาคต หรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้.
(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สวนานานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในตถาคตหรือสาวกของตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้.
(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่เลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ เป็นดังนี้.
(๕) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน.ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๖) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อยระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การระลึกนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลอนุตตริยะ ๖ ประการ. ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์โดยกาลอันควร.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๖๓/๓๐๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น