สักแต่ว่า...

สักแต่ว่า...


สักแต่ว่า...



พาหิยะ ! เมื่อใดเธอ เห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น, ได้ฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง, ได้กลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย, ก็สักว่าดม, ลิ้ม, สัมผัส, ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว; เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี. เมื่อใด “เธอ” ไม่มี; เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้, ไม่ปรากฏในโลกอื่น, ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง : นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.

-บาลี อุ. ขุ. ๒๕/๘๓/๔๙.

สักแต่ว่า...(นัยที่ ๒)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เป็นคนชรา เป็นคนแก่คนเฒ่ามานานผ่านวัยมาตามลำดับ. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมโดยย่อ ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระเจ้าข้า !”. มาลุงก๎ยบุตร ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือ รูปทั้งหลาย อันรู้สึกกันได้ทางตา เป็นรูปที่ท่านไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็น ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ก็ไม่มี ที่ท่านคิดว่าท่านควรจะได้เห็นก็ไม่มี ดังนี้แล้ว ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักก็ดี ในรูปเหล่านั้น ย่อมมีแก่ท่านหรือ ? “ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”. (ต่อไปนี้ ได้มีการตรัสถามและการทูลตอบในทำนองเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อของสิ่งที่นำมากล่าว คือในกรณีแห่งเสียงอันรู้สึกกันได้ทางหู ในกรณีแห่ง กลิ่นอันรู้สึกกันได้ทางจมูก ในกรณีแห่ง รสอันรู้สึกกันได้ทางลิ้น ในกรณีแห่ง โผฏฐัพพะอันรู้สึกกันได้ทางผิวกาย และในกรณีแห่ง ธรรมารมณ์อันรู้สึกกันได้ทางใจ).
มาลุงก๎ยบุตร ! ในบรรดาสิ่งที่ท่าน พึงเห็น พึงฟัง พึงรู้สึก พึงรู้แจ้งเหล่านั้น; ใน สิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าเห็น; ใน สิ่งที่ท่านฟังแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าได้ยิน; ใน สิ่งที่ท่านรู้สึกแล้ว (ทางจมูก, ลิ้น, กาย) จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้สึก; ใน สิ่งที่ท่านรู้แจ้งแล้ว (ทางวิญญาณ) ก็จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้แจ้ง. มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดแล ในบรรดาธรรมเหล่านั้น : เมื่อ สิ่งที่เห็นแล้ว สักว่าเห็น, สิ่งที่ฟังแล้ว สักว่าได้ยิน, สิ่งที่รู้สึกแล้ว สักว่ารู้สึก, สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว สักว่ารู้แจ้ง, ดังนี้แล้ว; มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อนั้น ตัวท่านย่อมไม่มีเพราะเหตุนั้น; 
บุคคลนั้นไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย เห็นรูปแล้ว มีสติเฉพาะ มีจิตไม่กำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ความสยบมัวเมาย่อมไม่ครอบงำบุคคลนั้น. เมื่อเขาเห็นอยู่ซึ่งรูปตามที่เป็นจริง เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ก็สิ้นไปๆ ไม่เพิ่มพูนขึ้น เขามีสติประพฤติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้, เมื่อไม่สะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้ต่อนิพพาน. (ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน). “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ พระเจ้าข้า !”. พระผู้มีพระภาค ทรงรับรองความข้อนั้น ว่าเป็นการถูกต้อง. ท่านมาลุงก๎ยบุตรหลีกออกสู่ที่สงัดกระทำความเพียรได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในศาสนานี้.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๙๐/๑๓๒.

อุปมาความทุกข์ในนรก

อุปมาความทุกข์ในนรก

อุปมาความทุกข์ในนรก



ภิกษุทั้งหลาย ! ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นพาลของคนพาลนี้ 
มี ๓ อย่าง. ๓ อย่าง อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลในโลกนี้ มักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว มักทำการทำที่ชั่ว ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกขโทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มีปกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๑ ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก คนพาลเห็นพระราชาทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ :- (๑) โบยด้วยแส้บ้าง (๒) โบยด้วยหวายบ้าง (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง (๔) ตัดมือบ้าง (๕) ตัดเท้าบ้าง (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง (๗) ตัดหูบ้าง(๘) ตัดจมูกบ้าง (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง {๑} (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้น มีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย ถ้าแม้พระราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๒ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทำไว้ในก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความร้าย ทำแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ความร้าย และความเลว เป็นกำหนด คนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ระทมใจ คร่ำครวญ ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ ๓ แม้ดังนี้ในปัจจุบัน. ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า เป็นสถานที่ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว. ภิกษุทั้งหลาย ! เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาถึงความทุกข์ในนรก ก็ไม่ใช่ง่ายนัก.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ ? ภิกษุทั้งหลาย ! อาจเปรียบได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแสดงแด่พระราชาว่า “ขอเดชะ ! ผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดลงอาชญาที่ทรงพระราชประสงค์แก่มันเถิด” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนี้ในเวลาเช้า” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเช้า ครั้นเวลากลางวัน พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิม พระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลากลางวัน” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็น พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิมพระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลาเย็น” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเย็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? บุรุษนั้น ถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม พึงเสวยทุกขโทมนัสเพราะการที่ถูกแทงนั้นเป็นเหตุบ้างหรือหนอ ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็เสวยทุกขโทมนัสเพราะเหตุที่ถูกแทงนั้นได้ ป่วยการกล่าวถึงหอกตั้งสามร้อยเล่ม. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล ทุกขโทมนัสที่บุรุษกำลังเสวยเพราะการถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ เปรียบเทียบทุกข์ของนรกยังไม่ถึงแม้ความนับ ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๑๑/๔๖๘.

อนุตตริยะ ๖ (สิ่งที่ประเสริฐ ๖ ประการ)

อนุตตริยะ ๖ (สิ่งที่ประเสริฐ ๖ ประการ)

ทัสสนานุตตริยะ





ภิกษุทั้งหลาย ! อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการ เป็นอย่างไร คือ (๑) ทัสสนานุตตริยะ (๒) สวนานุตตริยะ (๓) ลาภานุตตริยะ (๔) สิกขานุตตริยะ (๕) ปาริจริยานุตตริยะ (๖) อนุสสตานุตตริยะ (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้ นั้นแลเป็นกิจเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นตถาคต หรือสาวกตถาคตการเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธา ไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นตถาคต หรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้.
(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สวนานานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในตถาคตหรือสาวกของตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้.
(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่เลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ เป็นดังนี้.
(๕) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน.ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ก็ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้. (๖) ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อยระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด. ภิกษุทั้งหลาย ! การระลึกนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว ... . ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลอนุตตริยะ ๖ ประการ. ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์โดยกาลอันควร.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๖๓/๓๐๑.

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า



ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า


ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด,
ราชกุมาร !  เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-
“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน



ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา); จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.