ควรคบคนที่สูงกว่า

ชิคุจฉสูตร

ควรคบคนที่สูงกว่า



   [๔๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ
    ๑. บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่     ๒. บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่
    ๓. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้มีอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด
มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าในภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ บุคคลเห็นปานนี้ควรเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริง แต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ก็ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในคูถ ถึงแม้จะไม่กัดแต่ก็ทำให้เปื้อนได้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน แม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติ ของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริงแต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงน่าเกลียด ไม่ควรเสพไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคืองพยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมให้ความหมักหมมยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธมากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท
ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือน
ถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิๆ แม้ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจเมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธและความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนหลุมคูถ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคืองพยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความพินาศให้เราบ้าง ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมบุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะแม้จะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็ตาม ถึงกระนั้น ชื่อเสียงที่ดีงามของเขาก็จะระบือไปว่า เป็นผู้มีคนดีเป็นมิตร มีคนดีเป็นสหาย มีคนดีเป็นเพื่อนฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ
คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ
จบสูตรที่ ๗

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐  หน้าที่ ๑๑๙-๑๒๑  ข้อที่ ๔๖๖

1 ความคิดเห็น: