อาการดับแห่งตัณหาในนามแห่งนันทิ

อาการดับแห่งตัณหาในนามแห่งนันทิ


อาการดับแห่งตัณหาในนามแห่งนันทิ



    ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดีในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก; ย่อมไม่ขัดเคืองในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง; เป็นผู้อยู่ด้วยสติเป็นไปในกาย อันตนเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตหาประมาณมิได้ด้วย ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นธรรมที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายด้วย. ภิกษุนั้นเป็นผู้ละเสียได้แล้ว ซึ่งความยินดีและความยินร้ายอย่างนี้แล้ว, เสวยเวทนาใดๆ อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสุขก็ตาม, ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ในเวทนานั้นๆ.
    เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ในเวทนานั้นๆ, นันทิ (ความเพลิน) ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมดับไป. เพราะความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาติ ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
    (ในกรณีแห่งการได้ยินเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัส
ทางผิวหนังด้วยผิวกาย และรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน)
.
    ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงทรงธรรมะนี้ไว้ ในฐานะที่เป็นธรรมที่ทำความหลุดพ้น เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา ซึ่งเรากล่าวไว้โดยสังเขป.


-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๙๒/๔๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น