วิธีการเจริญเมตตา และการเจริญพรหมวิหาร
เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว. เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากบาปอกุศลที่เกิดขึ้น ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว กายก็สงบรำงับ ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ. เธอ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยกรุณา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยมุทิตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยอุเบกขา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด เธอมาถึงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง. เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยาก ฉันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ... มุทิตาเจโตวิมุตติ... อุเบกขาเจโตวิมุตติ... ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น. เมื่อใดเธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอจักเดินไปทางใดๆ ก็จักเดินเป็นสุขในทางนั้นๆ ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ นั่งอยู่ในที่ใดๆ ก็จักนั่งอยู่เป็นสุขในที่นั้นๆ นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่นั้นๆ. เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่าง คือ (๑)หลับเป็นสุข (๒) ตื่นเป็นสุข (๓)ไม่ฝันร้าย (๔) เป็นที่รักของพวกมนุษย์ (๕)เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ (๖) เทวดารักษา (๗)ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่ต้องบุคคลนั้น (๘)จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว (๙) สีหน้าผุดผ่อง (๑๐) ไม่หลงทำกาละ (๑๑) เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไป ย่อมเกิดในพรหมโลก เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่างนี้แล. -บาลี มู. ม. ๑๒/๕๑๔/๔๘๒. , -บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๐๙/๑๖๐., -บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๗๐/๒๒๒.
นิวรณ์เป็นเครื่องทำกระแสจิตไม่ให้รวมกำลัง
ภิกษุทั้งหลาย ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้วทำปัญญาให้ถอยกำลัง มีอยู่. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ: - ๑. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๒. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๓. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาซึมเซา) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๔. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๕. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา (ความลังเล, สงสัย) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่างๆ ไปได้ มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสกลางแม่น้ำนั้น ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆ ไปได้, นี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ อันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. [ต่อไปนี้ ได้ตรัสโดยปฏิปักขนัย (นัยตรงข้าม) คือ ภิกษุละนิวรณ์แล้ว ทำญาณวิเศษให้แจ้งได้ด้วยปัญญา อันมีกำลังเหมือนแม่น้ำที่เขาอุดรูรั่วทั้งสองฝั่งเสียแล้ว มีกระแสเชี่ยวแรงมากฉะนั้น] -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น