พุทธประเพณี (กฐิน)
ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น
ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะ
จากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.
-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถา
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถา
... เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังกล่าวเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงอย่ากล่าวเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องนิคม เรื่องนครเรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เพราะเหตุไรจึงไม่ควรกล่าว เพราะการกล่าวนั้นๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพานเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า “เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้ เพราะเหตุไรจึงควรกล่าว เพราะการกล่าวนั้นๆ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.
-บาลี สี. ที. ๙/๘๗/๑๑๐. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๖/๑๖๖๓.
กรณีของคฤหัสถ์ หากเห็นโทษโดยความเป็นโทษ ให้ทำคืนตามธรรม
กรณีของคฤหัสถ์ หากเห็นโทษโดยความเป็นโทษ ให้ทำคืนตามธรรม
(กรณีตัวอย่างของพระเจ้าอชาตศัตรูที่ทำการฆ่าบิดาของตนเอง) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง คนไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิด เพื่อสำรวมระวังต่อไปด้วยเถิด. มหาราช ! จริงทีเดียว ความผิดได้ครอบงำพระองค์ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง คนไม่ฉลาด พระองค์ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะพระองค์ทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิด แล้วทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น เราขอรับทราบความผิดของพระองค์ไว้ ก็การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมระวังต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัยของผู้นั้น.
-บาลี มหา. ที. ๙/๑๑๒/๑๓๙.
ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า
ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า
ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด,
ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-
สัทธรรมปฏิรูปกสูตร
สัทธรรมปฏิรูปกสูตร
รัตนะที่หาได้ยาก
รัตนะที่หาได้ยาก
เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ! ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการ หาได้ยากในโลก. ๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :- (๑) ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ (๒) บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว (๓) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว (๔) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (๕) กตัญญูกตเวทีบุคคล
เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ! ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก. -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๖๖/๑๙๕.
วิธีการเจริญเมตตา และการเจริญพรหมวิหาร
วิธีการเจริญเมตตา และการเจริญพรหมวิหาร
เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว. เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากบาปอกุศลที่เกิดขึ้น ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว กายก็สงบรำงับ ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ. เธอ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยกรุณา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยมุทิตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยอุเบกขา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด เธอมาถึงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง. เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยาก ฉันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ... มุทิตาเจโตวิมุตติ... อุเบกขาเจโตวิมุตติ... ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น. เมื่อใดเธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอจักเดินไปทางใดๆ ก็จักเดินเป็นสุขในทางนั้นๆ ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ นั่งอยู่ในที่ใดๆ ก็จักนั่งอยู่เป็นสุขในที่นั้นๆ นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่นั้นๆ. เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่าง คือ (๑)หลับเป็นสุข (๒) ตื่นเป็นสุข (๓)ไม่ฝันร้าย (๔) เป็นที่รักของพวกมนุษย์ (๕)เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ (๖) เทวดารักษา (๗)ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่ต้องบุคคลนั้น (๘)จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว (๙) สีหน้าผุดผ่อง (๑๐) ไม่หลงทำกาละ (๑๑) เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไป ย่อมเกิดในพรหมโลก เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่างนี้แล. -บาลี มู. ม. ๑๒/๕๑๔/๔๘๒. , -บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๐๙/๑๖๐., -บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๗๐/๒๒๒.
นิวรณ์เป็นเครื่องทำกระแสจิตไม่ให้รวมกำลัง
ภิกษุทั้งหลาย ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้วทำปัญญาให้ถอยกำลัง มีอยู่. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ: - ๑. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๒. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๓. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาซึมเซา) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๔. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๕. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา (ความลังเล, สงสัย) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่างๆ ไปได้ มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสกลางแม่น้ำนั้น ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆ ไปได้, นี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ อันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. [ต่อไปนี้ ได้ตรัสโดยปฏิปักขนัย (นัยตรงข้าม) คือ ภิกษุละนิวรณ์แล้ว ทำญาณวิเศษให้แจ้งได้ด้วยปัญญา อันมีกำลังเหมือนแม่น้ำที่เขาอุดรูรั่วทั้งสองฝั่งเสียแล้ว มีกระแสเชี่ยวแรงมากฉะนั้น] -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑.