พอรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็หายตาบอดอย่างกระทันหัน

 พอรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็หายตาบอดอย่างกระทันหัน

เชื่อมจิตทำไม เชื่อมพระสูตรดีกว่า



ดูก่อนมาคัณฑิยะ ! เปรียบเหมือนบุรุษตามืดบอดมาแต่กำเนิด, เขาจะมองเห็นรูปทั้งหลาย ที่มีสีดำหรือขาว เขียวหรือเหลือง แดงหรือขาบ ก็หาไม่; จะได้เห็นที่อันเสมอหรือขรุขระ ก็หาไม่; จะได้เห็นดวงดาว หรือดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็หาไม่. เขาได้ฟังคำบอกเล่าจากบุรุษผู้มีตาดีว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! ผ้าขาวเนื้อดีนั้นเป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด มีอยู่(ในโลก)” ดังนี้. บุรุษตาบอดนั้นจะพึงเที่ยวแสวงหาผ้าขาวอยู่. ยังมีบุรุษผู้หนึ่งลวงเขาด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! นี่ ! เป็นผ้าขาวเนื้อดี, เป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด, สำหรับท่าน” ดังนี้. บุรุษตาบอดก็จะพึงรับผ้านั้น; ครั้นรับแล้วก็จะห่ม. ในกาลต่อมา มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา เชิญแพทย์ผ่าตัดผู้ชำนาญมารักษา. แพทย์นั้น พึงประกอบซึ่งเภสัชอันถ่ายโทษในเบื้องบน ถ่ายโทษในเบื้องต่ำยาหยอด ยากัดและยานัตถุ์ เพราะอาศัยยานั้นเอง เขากลายเป็นผู้มีจักษุดี; พร้อมกับการมีจักษุดีขึ้นนั้น, เขาย่อมละความรักใคร่พอใจในผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าเสียได้; เขาจะพึงเป็นอมิตร เป็นข้าศึกผู้หมายมั่น ต่อบุรุษผู้ลวงเขานั้น; หรือถึงกับเข้าใจเลยไปว่า ควรจะปลงชีวิตเสียด้วยความแค้น, โดยกล่าวว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ! เราถูกบุรุษผู้นี้คดโกง หลอกลวง ปลิ้นปล้อน ด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่า มานานหนักหนาแล้ว; โดยหลอกเราว่า ‘ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ! นี้แลเป็นผ้าขาวเนื้อดี เป็นของงดงามปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาดสำหรับท่าน’ ดังนี้”; อุปมานี้ฉันใด; ดูก่อนมาคัณฑิยะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น : เราแสดงธรรมแก่ท่านว่า “อย่างนี้เป็นความไม่มีโรค; อย่างนี้ เป็นนิพพาน” ดังนี้. ท่านจะรู้จักความไม่มีโรคจะพึงเห็นนิพพานได้ก็ต่อเมื่อท่านละความเพลิดเพลินและความกำหนัด ในอุปาทานขันธ์ทั้งห้าเสียได้ พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งธรรมจักษุของท่านนั้น. อนึ่ง ความรู้สึกจะพึงเกิดขึ้นแก่ท่านว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายเอ๋ย ! นานจริงหนอ ที่เราถูกจิตนี้คดโกง หลอกลวง ปลิ้นปลอก; จึงเราเมื่อยึดถือ ก็ยึดถือเอาแล้ว ซึ่งรูป, ซึ่ง เวทนา, ซึ่งสัญญา, ซึ่งสังขาร, และซึ่งวิญญาณ นั่นเทียว:     เพราะความยึดถือ (อุปาทาน) ของเรานั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”. ดังนี้.


    มาคัณฑิยสูตร ม.ม. ๑๓/๒๘๔/๒๙๐,

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น