มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

โกคู เชื่อมจิต?



มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว ย่อมถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ : นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย, นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้. ส่วนผู้ใดที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว เห็นอริยสัจทั้งสี่ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือเห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์, เห็นความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์, และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบรำงับแห่งทุกข์ : นั่นแหละคือที่พึ่งอันเกษม, นั่นคือที่พึ่งอันสูงสุด, ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้.


-บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๓๙/๒๔.

พระองคุลิมาลบรรลุพระอรหันต์

พระองคุลิมาลบรรลุพระอรหัต

อากาศร้อนนึกถึงพระสูตรอะไร



[๕๓๒] ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาล หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด พรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ดังนี้. ก็ท่านพระองคุลิมาลได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย. [๕๓๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป บิณฑบาตในพระนครสาวัตถี. ก็เวลานั้นก้อนดิน ... ท่อนไม้ ... ก้อนกรวดที่บุคคลขว้างไปแม้โดยทางอื่นก็มาตกลงที่กายของท่านพระองคุลิมาล ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรท่านพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระองคุลิมาลว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุ จะให้เธอพึงหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดร้อยปีเป็นอันมาก ตลอดพันปีเป็นอันมาก ในปัจจุบันนี้เท่านั้น.


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ 
หน้าที่ ๓๖๕.  ข้อที่ ๕๓๒- ๕๓๓



 

ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่

 ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่

เหล่าม่าท่องเที่ยว



ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่อย่าง เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ :-
อริยสัจ คือ ทุกข์
อริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์
อริยสัจ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่ประการเหล่านี้แล, เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนาน ถึงเพียงนี้.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.

พอรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็หายตาบอดอย่างกระทันหัน

 พอรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็หายตาบอดอย่างกระทันหัน

เชื่อมจิตทำไม เชื่อมพระสูตรดีกว่า



ดูก่อนมาคัณฑิยะ ! เปรียบเหมือนบุรุษตามืดบอดมาแต่กำเนิด, เขาจะมองเห็นรูปทั้งหลาย ที่มีสีดำหรือขาว เขียวหรือเหลือง แดงหรือขาบ ก็หาไม่; จะได้เห็นที่อันเสมอหรือขรุขระ ก็หาไม่; จะได้เห็นดวงดาว หรือดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็หาไม่. เขาได้ฟังคำบอกเล่าจากบุรุษผู้มีตาดีว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! ผ้าขาวเนื้อดีนั้นเป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด มีอยู่(ในโลก)” ดังนี้. บุรุษตาบอดนั้นจะพึงเที่ยวแสวงหาผ้าขาวอยู่. ยังมีบุรุษผู้หนึ่งลวงเขาด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! นี่ ! เป็นผ้าขาวเนื้อดี, เป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด, สำหรับท่าน” ดังนี้. บุรุษตาบอดก็จะพึงรับผ้านั้น; ครั้นรับแล้วก็จะห่ม. ในกาลต่อมา มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา เชิญแพทย์ผ่าตัดผู้ชำนาญมารักษา. แพทย์นั้น พึงประกอบซึ่งเภสัชอันถ่ายโทษในเบื้องบน ถ่ายโทษในเบื้องต่ำยาหยอด ยากัดและยานัตถุ์ เพราะอาศัยยานั้นเอง เขากลายเป็นผู้มีจักษุดี; พร้อมกับการมีจักษุดีขึ้นนั้น, เขาย่อมละความรักใคร่พอใจในผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าเสียได้; เขาจะพึงเป็นอมิตร เป็นข้าศึกผู้หมายมั่น ต่อบุรุษผู้ลวงเขานั้น; หรือถึงกับเข้าใจเลยไปว่า ควรจะปลงชีวิตเสียด้วยความแค้น, โดยกล่าวว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ! เราถูกบุรุษผู้นี้คดโกง หลอกลวง ปลิ้นปล้อน ด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่า มานานหนักหนาแล้ว; โดยหลอกเราว่า ‘ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ! นี้แลเป็นผ้าขาวเนื้อดี เป็นของงดงามปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาดสำหรับท่าน’ ดังนี้”; อุปมานี้ฉันใด; ดูก่อนมาคัณฑิยะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น : เราแสดงธรรมแก่ท่านว่า “อย่างนี้เป็นความไม่มีโรค; อย่างนี้ เป็นนิพพาน” ดังนี้. ท่านจะรู้จักความไม่มีโรคจะพึงเห็นนิพพานได้ก็ต่อเมื่อท่านละความเพลิดเพลินและความกำหนัด ในอุปาทานขันธ์ทั้งห้าเสียได้ พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งธรรมจักษุของท่านนั้น. อนึ่ง ความรู้สึกจะพึงเกิดขึ้นแก่ท่านว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายเอ๋ย ! นานจริงหนอ ที่เราถูกจิตนี้คดโกง หลอกลวง ปลิ้นปลอก; จึงเราเมื่อยึดถือ ก็ยึดถือเอาแล้ว ซึ่งรูป, ซึ่ง เวทนา, ซึ่งสัญญา, ซึ่งสังขาร, และซึ่งวิญญาณ นั่นเทียว:     เพราะความยึดถือ (อุปาทาน) ของเรานั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”. ดังนี้.


    มาคัณฑิยสูตร ม.ม. ๑๓/๒๘๔/๒๙๐,

การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ

 การเกี่ยวข้องกับเงินทองของภิกษุ

ครูบามือชุ่ม








วินัยบัญญัติ ที่มาในสิกขาบทปาติโมกข์
อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการซื้อและการขายมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุ
ชื่อนี้ให้ครองจีวร
ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ
ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร
ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า
รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่ง
ต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้
การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่าน
อย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.

-บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๕๔/๗๐ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๐/๑๐๕ , -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๔/๑๑๐, -บาลี มหาวิ. วิ. ๒/๙๙/๑๑๓

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

 ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

อั๊วให้รื้อ



อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
“ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะ
อันเลิศที่สุด แล.

    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.

เหตุให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

 เหตุให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

คำถามที่ควรถาม



ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา. มาณพ ! สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้. ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อมิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความแห่งอุเทศนี้โดยพิสดารด้วยเถิด. มาณพ ! ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหารไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือ ก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เพราะกรรมนั้น อันเขา ให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็น คนมีโรคมาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมากนี้คือ เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดาน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะน้อย. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตามบุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนกระด้างเย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะ คนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลอะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีปัญญาทราม. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก. มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. มาณพ ! ด้วยประการฉะนี้แล ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความมีโรคมาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อย ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทราม ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อย ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อย ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูง ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทราม ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก ย่อมนำไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก.

มาณพ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.

เหตุให้ศาสนาเจริญ หรือ เสื่อม

 เหตุให้ศาสนาเจริญ หรือ เสื่อม

สาธุ เปิดเผย กับ สาธุ เปิดธรรม



เหตุให้ศาสนาเจริญ

    ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. ๔ ประการ อะไรบ้างเล่า ? ๔ ประการ คือ :-
    (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาถูก ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันถูก ความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย อดทน ยอมรับคำสั่งสอนโดยความเคารพหนักแน่น ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่สอง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) พวกภิกษุเหล่านั้น เอาใจใส่ บอกสอน เนื้อความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลาย ก็ไม่ขาด ผู้เป็นมูลราก (อาจารย์) มีที่อาศัยสืบกันไป ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุผู้เถระ ไม่ทำการสะสมบริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่มีจิตตกต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ มุ่งหน้าไปในกิจแห่งวิเวกธรรม ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง พวกภิกษุที่บวชในภายหลัง ได้เห็นพระเถระเหล่านั้น ทำแบบฉบับเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาเป็นแบบอย่าง, พวกภิกษุรุ่นหลัง จึงเป็นพระที่ไม่ทำการสะสมบริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่มีจิตตกต่ำ ด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ มุ่งหน้าไปในกิจแห่งวิเวกธรรม ย่อมปรารถความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่สี่ ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไปเลย.


    -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๘/๑๖๐.


เหตุให้ศาสนาเสื่อม


    ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป. ๔ ประการ อะไรบ้างเล่า ? ๔ ประการคือ :-
    (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุ เล่าเรียนสูตร อันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด; เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สอง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่บอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลายก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก (อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
    (๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุชั้นเถระ ทำการสะสมบริกขาร ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ผู้บวชในภายหลังได้เห็นพวกเถระเหล่านั้นทำแบบแผนเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง จึงทำให้เป็นผู้ทำการสะสมบริกขารบ้าง ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่
ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ตามกันสืบไป. 
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็น มูลกรณีที่สี่ ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.      ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

    -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.

ขยายความแห่งอริยมรรคมีองค์แปด

 ขยายความแห่งอริยมรรคมีองค์แปด

วันที่ 4 เดือน 4 เราเห็นต่างกัน



ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ นี้เอง, องค์แปดคือ :-   ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)                              ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)                              การพูดจาชอบ (สัมมาวาจา)                              การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)                              การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)                              ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)                               ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)                              ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้ในทุกข์, ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์, ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกาม, ความดำริในการไม่พยาบาท, ความดำริในการไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ. ภิกษุทั้งหลาย ! การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ, การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน, การเว้นจากการพูดหยาบ, การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า สัมมาวาจา. ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์, การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า สัมมากัมมันตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! การเลี้ยงชีพชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ, นี้เราเรียกว่า สัมมาอาชีวะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว, นี้เราเรียกว่า สัมมาวายามะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้, นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เพราะสงัดจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่; เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและได้เสวยสุขด้วยกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีการอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่; เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่, นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือ หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. -บาลี มหา. ที. ๑๐/๓๔๘/๒๙๙.

ความทุกข์ในนรก

 ความทุกข์ในนรก

ผอ.ไม่หวงเก้าอี้



........ ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า :- “พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ! เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่ทำกรรมอันเป็นบาปไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ต่างชนิด เห็นปานนี้. โอหนอ ! ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะพึงเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรม ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด”. ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น. (คาถาผนวกท้ายพระสูตร) นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือนแล้วประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์อันเลว ถึงความเศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะ แล้วไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้. -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๓๔/๕๐๔.