ทรงฉันอาหารวันหนึ่งหนเดียว

 ทรงฉันอาหารวันหนึ่งหนเดียว

ไม่ฉันเพล ไม่เป็นไร



ภิกษุ ทั้งหลาย ! เราย่อมฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียว (คือฉันหนเดียว ลุกขึ้นแล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น).     ภิกษุ ทั้งหลาย ! เมื่อเราฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียวอยู่ ย่อมรู้สึกว่าเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย มีความเบากายกระปรี้กระเปร่า มีกำลังและมีความผาสุกด้วย. ภิกษุ ทั้งหลาย ! มาเถิด แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็จงฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียว.     ภิกษุ ทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย เมื่อฉันอยู่ซึ่งโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียวจักรู้สึกความที่เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย มีความเบากาย กะปรี้กะเปร่า มีกำลังและมีความผาสุกด้วยแล.


    บาลี ภัททาลิสูตร ม.ม. ๑๓/๑๖๓/๑๖๐.

ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

 ภัยที่แม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

วินัย ไกลบุตร



ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (อมาตาปุตฺติกภย) ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง. ๓ อย่างคือ :- มีสมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ตั้งขึ้น ไหม้หมู่บ้าน ไหม้นิคม ไหม้นคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่หนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ พัดพาไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งนิคม ทั้งนคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มีภัย คือการกำเริบ (กบฏ)มาจากป่า ประชาชนขึ้นยานมีล้อหนีกระจัดกระจายไป. เมื่อภัยอย่างนี้เกิดขึ้น สมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้). ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สาม. ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง เหล่านี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ กล่าว สมาตาปุตติกภัย(ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันได้)แท้ๆ ๓ อย่างนี้ว่าเป็น อมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้)ไปเสีย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภัย ๓ อย่าง ที่มารดาและบุตรช่วยกันได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ สมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ เป็นอย่างหนึ่ง, สมัยที่น้ำท่วมใหญ่ เป็นอย่างที่สอง, สมัยที่หนีโจรขบถ เป็นอย่างที่สาม; เหล่านี้บางคราวมารดาและบุตรก็ช่วยกันและกันได้ แต่ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับมากล่าวว่าเป็นภัยที่มารดาและบุตรก็ช่วยกันไม่ได้ไปเสียทั้งหมด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (โดยแท้จริง)๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่สามอย่าง คือ :- ภัยเกิดจากความแก่ (ชราภยํ), ภัยเกิดจากความเจ็บไข้ (พฺยาธิภยํ), ภัยเกิดจากความตาย (มรณภยํ). ภิกษุทั้งหลาย ! มารดาไม่ได้ตามปรารถนากับบุตรผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด บุตรของเราอย่าแก่เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนากะมารดาผู้แก่อยู่อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด มารดาอย่าแก่เลย ดังนี้. มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด บุตรของเราอย่าเจ็บไข้เลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด มารดาของเราอย่าเจ็บไข้เลย ดังนี้. มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด บุตรของเราอย่าตายเลย; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด มารดาของเราอย่าตายเลย ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล เป็นภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ๓ อย่าง. ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัยและอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! หนทางหรือปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า ? นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์ ๘) นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ). ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แหละหนทาง นี้แหละปฏิปทา เป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัย และอมาตาปุตติกภัย อย่างละสามๆ เหล่านั้น.


-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๘/๕๐๒.

การแสดงธรรมที่บริษุทธิ์

 การแสดงธรรมที่บริษุทธิ์

ประกาศรางวัล BUDDHA



[๔๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเทศนาของภิกษุ ชนิดไร ไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไร บริสุทธิ์ ฯ         ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ ดังนี้ ฯ         พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ฯ         พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ว่าโอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้วพึงเลื่อมใสซึ่งธรรม ผู้ที่เลื่อมใสแล้วเท่านั้น จะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใสต่อเราดังนี้ ย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ภิกษุทั้งหลายธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล ไม่บริสุทธิ์
        ส่วนภิกษุใดแล เป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตนโอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมก็แลครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่แห่งพระธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู
จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นด้วยประการฉะนี้         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล บริสุทธิ์ ฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
หน้าที่ ๑๙๗  ข้อที่ ๔๗๓


ตามรอยธรรม


...จงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในเบื้องปลาย ...ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่ ... .

-บาลี มหา. วิ. ๔/๓๙/๓๒.

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ถ้วยกาแฟเศียรพระ




อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล. -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.