ความสิ้นตัณหา คือ นิพพาน
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่า ‘สัตว์ สัตว์’ ดังนี้, อันว่าสัตว์มีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า !”. ราธะ ! ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด ตัณหาอันใด มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ, เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในสิ่งนั้นๆ, เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้. ราธะ ! เปรียบเหมือนพวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เล่นเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินอยู่, ตราบใดเขายังมีราคะ มีฉันทะ มีความรัก มีความกระหาย มีความเร่าร้อน และมีตัณหา ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น; ตราบนั้น พวกเด็กน้อยนั้นๆ ย่อมอาลัยเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมอยากเล่น ย่อมอยากมีเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมยึดถือเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ว่าเป็นของเรา ดังนี้. ราธะ ! แต่เมื่อใดแล พวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เหล่านั้น ปราศจากราคะแล้ว ปราศจากฉันทะแล้ว ปราศจากความรักแล้ว ปราศจากความเร่าร้อนแล้ว ปราศจากตัณหาแล้วในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น, ในกาลนั้น พวกเขาย่อมทำเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ให้กระจัดกระจายเรี่ยรายเกลื่อนกล่นไป กระทำให้จบการเล่นเสีย ด้วยมือและเท้าทั้งหลาย, อุปมานี้ฉันใด; ราธะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ แม้พวกเธอทั้งหลายจงเรี่ยรายกระจายออก ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จงขจัดเสียให้ถูกวิธี, จงทำให้แหลกลาญ โดยถูกวิธี, จงทำให้จบการเล่นให้ถูกวิธี, จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาเถิด. ราธะ ! เพราะว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น คือ นิพพาน ดังนี้ แล.
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น