คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗

 คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗

ป้ายืนนิ่งได้100ล้านวิว



    บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสีย ทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้นผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล บุคคลใดแล พึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว ไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้น ว่าเป็นสารถี คนนอกนี้เป็นคนถือเชือก พึงชนะความโกรธด้วยความ ไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ไม่พึง โกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคลพึงไปในสำนักแห่ง เทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี
    ดูกรอตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณมิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้ ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้วทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด ผู้มีความประ พฤติไม่ขาดเป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ใครย่อมควร เพื่อจะนินทาบุคคลนั้นผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุช แม้เทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น แม้พรหมก็สรรเสริญบุคคล นั้น ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกายพึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย ละกาย ทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วยวาจา ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา พึงรักษาความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยใจ ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ นักปราชญ์ทั้งหลาย สำรวมแล้วด้วยกาย สำรวมแล้วด้วยวาจา สำรวมแล้วด้วยใจ ท่านเหล่านั้นแล สำรวม เรียบร้อยแล้ว ฯ

จบโกธวรรคที่ ๑๗

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๕ 
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต.   หน้าที่ ๓๑     ข้อที่ ๒๗

ปาฏิหาริย์ สาม

 ปาฏิหาริย์ สาม

ครูของครูของครูๆๆๆ



เกวัฏฏะ ! นี่ปาฏิหาริย์สามอย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้. ๓ อย่างอะไรเล่า ? ๓ อย่าง คือ :- ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์ (๑)    เกวัฏฏะ ! อิทธิปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีประการต่างๆ : ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน, หลายคนเป็นคนเดียว, ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง, ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขาดุจไปในอากาศว่างๆ, ผุดขึ้นและดำรงอยู่ในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ, เดินไปได้เหนือน้ำเหมือนเดินบนแผ่นดิน, ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์, ลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมากได้ด้วยฝ่ามือ และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้. เกวัฏฏะ ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใสว่าน่าอัศจรรย์นัก. กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชาชื่อคันธารี {๑} มีอยู่ ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น. เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ? “พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”. เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออิทธิปาฏิหาริย์. (๒) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึกของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่นได้ ว่า ใจของท่านเช่นนี้ ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. ... ฯลฯ ... กุลบุตรผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อ ผู้เลื่อมใส ว่า วิชาชื่อมณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้น กล่าวทายใจได้เช่นนั้นๆ ก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่), เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ? “พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”. เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอาเทสนาปาฏิหาริย์ ดังนี้แลจึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฏิหาริย์. (๓) เกวัฏฏะ ! อนุศาสนีปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า “ท่านจงตรึกอย่างนี้ๆ อย่าตรึกอย่างนั้นๆ, จงทำไว้ในใจอย่างนี้ๆ อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้นๆ, จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้ๆ แล้วแลอยู่” ดังนี้. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์. เกวัฏฏะ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์. ตถาคตนั้น ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตาม. ตถาคตนั้นแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น–ท่ามกลาง–ที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. คหบดีหรือบุตรคหบดีหรือผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่งในภายหลังก็ดี ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาในตถาคต. เขาผู้ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, บรรพชาเป็นโอกาสว่าง; การที่คนอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดแล้วนั้น ไม่ทำได้โดยง่าย. ถ้ากระไร เราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”, ดังนี้. โดยสมัยอื่นต่อมา เขาละกองสมบัติน้อยใหญ่และวงศ์ญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว. ภิกษุนั้น ผู้บวชแล้วอย่างนี้ สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร, มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ว่าเป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย, ประกอบแล้วด้วยกายกรรม วจีกรรมอันเป็นกุศล, มีอาชีวะบริสุทธิ์, ถึงพร้อมด้วยศีล, มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย, ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ. เกวัฏฏะ ! ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์. ... เกวัฏฏะ ! ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยนควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว เช่นนี้แล้ว, เธอก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ. เธอย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์”; และรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “เหล่านี้ อาสวะ, นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งอาสวะ, นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ”. เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ. ครั้นจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า “จิตพ้นแล้ว”. เธอรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้. เกวัฏฏะ ! เปรียบเหมือนห้วงน้ำใสที่ไหล่เขาไม่ขุ่นมัว, คนมีจักษุดียืนอยู่บนฝั่งในที่นั้น, เขาเห็นหอยต่างๆ บ้าง กรวดและหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง อันหยุดอยู่และว่ายไปในห้วงน้ำนั้น, เขาจะสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า “ห้วงน้ำนี้ใส ไม่ขุ่นเลย หอย ก้อนกรวด ปลาทั้งหลายเหล่านี้ หยุดอยู่บ้าง ว่ายไปบ้าง ในห้วงน้ำนั้น” ดังนี้; ฉันใดก็ฉันนั้น. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์. เกวัฏฏะ ! เหล่านี้แล ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย.

๑. คันธารี ชื่อมนต์ แต่งโดยฤษีนามคันธาระ อีกความหมายหนึ่งหมายถึงคำแปลว่า ในแคว้นคันธาระ. -บาลี สี. ที. ๙/๒๗๓/๓๓๙.

ความสิ้นตัณหา คือ นิพพาน

 ความสิ้นตัณหา คือ นิพพาน

พวกเรายังคงเป็นกุมารกุมารี



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่า ‘สัตว์ สัตว์’ ดังนี้, อันว่าสัตว์มีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า !”. ราธะ ! ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด ตัณหาอันใด มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ, เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในสิ่งนั้นๆ, เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้. ราธะ ! เปรียบเหมือนพวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เล่นเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินอยู่, ตราบใดเขายังมีราคะ มีฉันทะ มีความรัก มีความกระหาย มีความเร่าร้อน และมีตัณหา ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น; ตราบนั้น พวกเด็กน้อยนั้นๆ ย่อมอาลัยเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมอยากเล่น ย่อมอยากมีเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมยึดถือเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ว่าเป็นของเรา ดังนี้. ราธะ ! แต่เมื่อใดแล พวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เหล่านั้น ปราศจากราคะแล้ว ปราศจากฉันทะแล้ว ปราศจากความรักแล้ว ปราศจากความเร่าร้อนแล้ว ปราศจากตัณหาแล้วในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น, ในกาลนั้น พวกเขาย่อมทำเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ให้กระจัดกระจายเรี่ยรายเกลื่อนกล่นไป กระทำให้จบการเล่นเสีย ด้วยมือและเท้าทั้งหลาย, อุปมานี้ฉันใด; ราธะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ แม้พวกเธอทั้งหลายจงเรี่ยรายกระจายออก ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จงขจัดเสียให้ถูกวิธี, จงทำให้แหลกลาญ โดยถูกวิธี, จงทำให้จบการเล่นให้ถูกวิธี, จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาเถิด. ราธะ ! เพราะว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น คือ นิพพาน ดังนี้ แล.

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.

มีสุตะเหมือนมีอาวุธ

 มีสุตะเหมือนมีอาวุธ

วันเด็ก มีสุตะเหมือนมีอาวุธ

    ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีอาวุธอันสั่งสมไว้เป็นอันมาก ทั้งชนิดที่ใช้ประหารใกล้ตัวและประหารไกลตัว สำหรับคุ้มภัยในภายในและป้องกันในภายนอก, นี้ฉันใด;
    ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกก็มีสุตะ อันตนสดับแล้วมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ, ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ที่เป็นการประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ, ธรรมมีรูปเห็นปานนั้น อันเขาสดับแล้วมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ มีสุตะเป็นอาวุธ ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมอันมีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดอยู่, ฉันนั้นเหมือนกัน


    - สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๐๙/๑๑๓/๖๔.

ผู้มีอุปการะมาก

 ผู้มีอุปการะมาก

เด็ก ผู้มีอุปการะมาก



ถูกแล้วๆ อานนท์ ! จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยะเจ้า เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ได้เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี แม้ด้วยการอภิวาท การลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-ปัจจัยเภสัชชบริขาร


-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๗/๗๐๙.

ทรงโปรดภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

 ทรงโปรดภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

หอกปาก



[๕๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายได้ยินว่า พวกเธอ เกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ไม่ยังกันและกันให้เข้าใจ ไม่ปรารถนาความเข้าใจกัน ไม่ยังกันและกันให้ปรองดอง ไม่ปรารถนาความปรองดองกันจริงหรือ? ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมัยใดพวกเธอ เกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ สมัยนั้น พวกเธอเข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง บ้างหรือหนอ? ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เช่นนี้ก็เป็นอันว่า สมัยใด พวกเธอ เกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ สมัยนั้นพวกเธอมิได้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรมในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร จึงเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ไม่ยังกันและกันให้เข้าใจ ไม่ปรารถนาความเข้าใจกัน ไม่ยังกันและกันให้ปรองดอง ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ข้อนั้นนั่นแหละ จักมีเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ แก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน.


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
หน้าที่ ๔๑๑.  ข้อที่ ๕๔๑