ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้ว

เป็นศาสดาแทนต่อไป

เอเลียด คิปโชเก



อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขาภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล. -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.

เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

 เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

ไมค์ไทสันแพ้ความแก่



สารีบุตร ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ชั่วเวลาที่บุรุษนี้ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย, ก็ยังคงประกอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวอยู่เพียงนั้น, เมื่อใดบุรุษนี้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลนาน ผ่านวัยไปแล้ว มีอายุ ๘๐ ปี, ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี จากการเกิด, เมื่อนั้น เขาย่อมเป็นผู้เสื่อมสิ้นจากปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว. สารีบุตร ! ข้อนี้ เธออย่าพึงเห็นอย่างนั้น, เรานี้แล ในบัดนี้เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาแล้ว วัยของเรานับได้ ๘๐ ปี, ...ฯลฯ... สารีบุตร ! ธรรมเทศนาที่แสดงไปนั้น ก็มิได้แปรปรวน บทพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน ปฏิภาณในการตอบปัญหาของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน...ฯลฯ...
สารีบุตร ! แม้ว่าเธอทั้งหลาย จักนำเราไปด้วยเตียงน้อย (สำหรับหามคนทุพพลภาพ), ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวของตถาคต ก็มิได้มี. สารีบุตร ! ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวให้ถูกให้ชอบว่า “สัตว์มีความไม่หลงเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว ผู้นั้นพึงกล่าวซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของพระผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ ว่า :- “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”.
อานนท์ ! นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น; คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้. พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า :- โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว. แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน. อานนท์ ! บัดนี้ เรามีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขารแล้ว ณ ปาวาลเจดีย์นี้. (พระอานนท์ได้สติจึงทูลขอให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยอิทธิบาทภาวนา กัปป์หนึ่งหรือยิ่งกว่ากัปป์; ทรงปฏิเสธ) อานนท์ ! อย่าเลย, อย่าวิงวอนตถาคตเลย มิใช่เวลาจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว. (พระอานนท์ทูลวิงวอนอีกจนครบสามครั้ง ได้รับพระดำรัสตอบอย่างเดียวกัน, ตรัสว่าเป็นความผิดของพระอานนท์ผู้เดียว, แล้วทรงจาระไนสถานที่ ๑๖ แห่งที่เคยให้โอกาสแก่พระอานนท์ในเรื่องนี้ แต่พระอานนท์รู้ไม่ทันสักครั้งเดียว) อานนท์ ! ในที่นั้นๆ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจักห้ามเสียสองครั้ง แล้วจักรับคำในครั้งที่สาม, อานนท์ ! ตถาคตได้บอกแล้วมิใช่หรือ ว่าสัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น, สัตว์จะได้ตามปรารถนา ในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า, ข้อที่สัตว์จะหวังเอาสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีการแตกดับเป็นธรรมดา ว่าสิ่งนี้อย่าฉิบหายเลย ดังนี้ ย่อมไม่เป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้. สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และ ยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้วทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๒,     -บาลี มหาวาร. สํ ๑๙/๒๘๗/๙๖๓. ,    -บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๑/๑๐๘.

ลัทธิความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับกรรม ๓ แบบ

 ลัทธิความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับกรรม ๓ แบบ

รอยกระโถน



ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์ เกิดจากกรรมเก่าอย่างเดียว

ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธิเหล่านี้ มีอยู่, เป็นลัทธิซึ่งแม้บัณฑิตจะพากันไตร่ตรอง จะหยิบขึ้นตรวจสอบ จะหยิบขึ้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร แม้จะบิดผันกันมาอย่างไร ก็ชวนให้น้อมไป เพื่อการไม่ประกอบกรรมที่ดีงามอยู่นั่นเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธินั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ๓ ลัทธิคือ :- (๑) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน” ดังนี้. (๒) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะการบันดาลของเจ้าเป็นนาย” ดังนี้. (๓) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนอย่างเดียว” มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท ... มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ในเวลานี้) นั่นก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน. เมื่อมัวแต่ถือเอา กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนมาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์ เกิดจากเทพเจ้าบันดาลให้

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะอิศวรเนรมิตให้ (อิสฺสรนิมฺมานเหตูติ)” ดังนี้ มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น (ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องเป็นเพราะการเนรมิตของอิศวรด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอา การเนรมิตของอิศวร มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ)สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้วคนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้ มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณะพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น (ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ … ลักทรัพย์ … ประพฤติผิดพรหมจรรย์ … พูดเท็จ … พูดคำหยาบ … พูดยุให้แตกกัน … พูดเพ้อเจ้อ … มีใจละโมบเพ่งเล็ง … มีใจพยาบาท … มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลยด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอาความไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้. -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๔/๕๐๑.

กรรมที่ทำให้ได้รับผลเป็นความไม่ตกต่ำ

 กรรมที่ทำให้ได้รับผลเป็นความไม่ตกต่ำ

พระปีนเสาสงสัยไม่อยากตกต่ำ



ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ชาติที่แล้วมาแต่อดีต ตถาคตได้เคยเจริญเมตตาภาวนาตลอด ๗ ปี จึงไม่เคยมาบังเกิดในโลกมนุษย์นี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปป์ และวิวัฏฏกัปป์ ในระหว่างกาลอันเป็นสังวัฏฏกัปป์นั้น เราได้บังเกิดในอาภัสสรพรหม ในระหว่างกาลอันเป็นวิวัฏฏกัปป์นั้น เราก็ได้อยู่พรหมวิมานอันว่างเปล่าแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกัปป์นั้น เราได้เคยเป็นพรหม ได้เคยเป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้เคยเป็นสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา นับได้ ๓๖ ครั้ง เราได้เคยเป็นราชาจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม มีแว่นแคว้นจรดมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นที่สุด เป็นผู้ชนะแล้วอย่างดี มีชนบทอันบริบูรณ์ประกอบด้วยแก้วเจ็ดประการ นับด้วยร้อยๆ ครั้ง, ทำไมจะต้องกล่าวถึงความเป็นราชาตามธรรมดาด้วย. ภิกษุทั้งหลาย ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรมอะไรของเราหนอ ที่ทำให้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ ในครั้งนั้นๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรม ๓ อย่างนี้แล ที่ทำให้เรามีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้, วิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง ในครั้งนั้น คือ :- (๑) ผลวิบากแห่งทาน การให้ (๒) ผลวิบากแห่งทมะ การบีบบังคับใจ (๓) ผลวิบากแห่งสัญญมะ การสำรวมระวัง ดังนี้. -บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๔๐/๒๐๐.

พุทธประเพณี (กฐิน)

พุทธประเพณี (กฐิน)

พุทธประเพณี (กฐิน)


ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้พระพุทธเจ้าข้า
อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน
    ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้ว ได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้
๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
วิธีกรานกฐิน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
    ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน.
กฐินไม่เป็นอันกราน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือ:-
๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงขีดรอย
๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า
๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า
๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า
๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บด้น
๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม
๙. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาต
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาตด้านหน้า
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมเป็นสีหม่นเท่านั้น
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๑๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่มิได้ทำกัปปะพินทุ
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าสังฆาฏิเสีย
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอุดราสงค์เสีย
๒๑. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอันตรวาสกเสีย
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑล
        เสร็จในวันนั้น
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากการกรานแห่งบุคคล
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้
        กฐินก็เชื่อว่าไม่เป็นอันกราน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินไม่เป็นอันกราน.
กฐินเป็นอันกราน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:-
๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่
๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่
๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า
๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสุกุล
๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน
๖. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๘. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๙. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๑๐. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์
๑๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว
๑๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าสังฆาฏิ
๑๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอุตราสงค์
๑๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอันตรวาสก
๑๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑล เสร็จในวันนั้น
๑๖. กฐินเป็นอันกราน เพราะการแห่งบุคคล
๑๗. กฐินเป็นอันกราน ถ้าภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่า         เป็นอันกราน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน. พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๑๐๘ ข้อที่ ๙๕ 

ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะ

จากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

แผนที่ผิด ก็ไปผิด


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.


    -บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถา

 ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถา

ดิรัจฉาน กถา



... เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังกล่าวเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้เสียแล้ว แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงอย่ากล่าวเดรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องนิคม เรื่องนครเรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เพราะเหตุไรจึงไม่ควรกล่าว เพราะการกล่าวนั้นๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพานเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า “เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้ เพราะเหตุไรจึงควรกล่าว เพราะการกล่าวนั้นๆ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.

-บาลี สี. ที. ๙/๘๗/๑๑๐. -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๖/๑๖๖๓.

กรณีของคฤหัสถ์ หากเห็นโทษโดยความเป็นโทษ ให้ทำคืนตามธรรม

 กรณีของคฤหัสถ์ หากเห็นโทษโดยความเป็นโทษ ให้ทำคืนตามธรรม

พระเลิกน้ำมนต์ คนเลิกน้ำเมา



(กรณีตัวอย่างของพระเจ้าอชาตศัตรูที่ทำการฆ่าบิดาของตนเอง) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง คนไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิด เพื่อสำรวมระวังต่อไปด้วยเถิด. มหาราช ! จริงทีเดียว ความผิดได้ครอบงำพระองค์ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง คนไม่ฉลาด พระองค์ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะพระองค์ทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิด แล้วทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น เราขอรับทราบความผิดของพระองค์ไว้ ก็การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมระวังต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัยของผู้นั้น.


-บาลี มหา. ที. ๙/๑๑๒/๑๓๙.

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

 ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า

บัว 3 เหล่า บาตรไม่เอา เอากระโถน



ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว, และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัวบางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด,
ราชกุมาร !  เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-

“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด, ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง. บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.

สัทธรรมปฏิรูปกสูตร

สัทธรรมปฏิรูปกสูตร

คนตื่นธรรม คนตื่นทอง



[๕๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อยและภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บัดนี้สิกขาบทมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีน้อย ฯ [๕๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ข้อนั้นเป็นอย่างนี้คือ เมื่อหมู่สัตว์เลวลง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระอรหัตผลจึงน้อยเข้า สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใดตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป และ สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใดตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรมชาติจึงหายไป ฉันใด พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรม จึงเลือนหายไป ฯ


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค หน้าที่ ๒๑๗ ข้อที่ ๕๓๑ - ๕๓๒

รัตนะที่หาได้ยาก

 รัตนะที่หาได้ยาก

โหน กะ แฉ



เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ! ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการ หาได้ยากในโลก. ๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :- (๑) ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ     (๒) บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว     (๓) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว     (๔) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม     (๕) กตัญญูกตเวทีบุคคล

เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ! ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก. -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๖๖/๑๙๕.

วิธีการเจริญเมตตา และการเจริญพรหมวิหาร

 วิธีการเจริญเมตตา และการเจริญพรหมวิหาร

เชิญเจริญเมตตา (แผ่เมตตา)



เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว. เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากบาปอกุศลที่เกิดขึ้น ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว กายก็สงบรำงับ ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ. เธอ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยกรุณา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยมุทิตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยอุเบกขา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแล้วแลอยู่. สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด เธอมาถึงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง. เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยาก ฉันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ... มุทิตาเจโตวิมุตติ... อุเบกขาเจโตวิมุตติ... ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น. เมื่อใดเธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอจักเดินไปทางใดๆ ก็จักเดินเป็นสุขในทางนั้นๆ ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ นั่งอยู่ในที่ใดๆ ก็จักนั่งอยู่เป็นสุขในที่นั้นๆ นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่นั้นๆ. เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่าง คือ (๑)หลับเป็นสุข (๒) ตื่นเป็นสุข (๓)ไม่ฝันร้าย (๔) เป็นที่รักของพวกมนุษย์ (๕)เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ (๖) เทวดารักษา (๗)ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่ต้องบุคคลนั้น (๘)จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว (๙) สีหน้าผุดผ่อง (๑๐) ไม่หลงทำกาละ (๑๑) เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไป ย่อมเกิดในพรหมโลก เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่างนี้แล. -บาลี มู. ม. ๑๒/๕๑๔/๔๘๒. , -บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๐๙/๑๖๐., -บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๗๐/๒๒๒.


นิวรณ์เป็นเครื่องทำกระแสจิตไม่ให้รวมกำลัง

ภิกษุทั้งหลาย ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้วทำปัญญาให้ถอยกำลัง มีอยู่. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ: - ๑. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๒. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๓. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาซึมเซา) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๔. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๕. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา (ความลังเล, สงสัย) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่างๆ ไปได้ มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสกลางแม่น้ำนั้น ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆ ไปได้, นี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ อันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. [ต่อไปนี้ ได้ตรัสโดยปฏิปักขนัย (นัยตรงข้าม) คือ ภิกษุละนิวรณ์แล้ว ทำญาณวิเศษให้แจ้งได้ด้วยปัญญา อันมีกำลังเหมือนแม่น้ำที่เขาอุดรูรั่วทั้งสองฝั่งเสียแล้ว มีกระแสเชี่ยวแรงมากฉะนั้น] -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑.