ทรงมีการกล่าวที่ไม่ขัดแย้งกับบัณฑิตชนในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมไม่กล่าวขัดแย้ง (วิวาท) กะโลก แต่โลกต่างหาก ย่อมกล่าวขัดแย้งต่อเรา. ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้เป็นธรรมวาที ย่อมไม่กล่าวขัดแย้งกะใครๆ ในโลก. ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งใดที่บัณฑิตในโลก สมมติ (รู้เหมือนๆ กัน) ว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามี.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่า ที่บัณฑิตในโลกสมมติ ว่าไม่มี และเราก็กล่าวว่าไม่มี ?
ภิกษุทั้งหลาย ! รูป ที่เที่ยง ที่ยั่งยืน ที่เที่ยงแท้ ที่ไม่มีการแปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวว่าไม่มี. (ในกรณีแห่งเวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว). ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้แล ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี และเราก็กล่าวว่าไม่มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่า ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี และเราก็กล่าวว่ามี.
ภิกษุทั้งหลาย ! รูป ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีการแปรปรวน เป็นธรรมดาบัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวว่ามี. (ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว).
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้แล ที่บัณฑิตในโลก สมมติว่ามี และเราก็กล่าวว่ามี, ดังนี้.
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๖๙/๒๓๙.
[ในบาลี โปฏฐปาทสูตร สี.ที. ๙/๒๔๘/๓๑๒, มีตรัสว่า พระองค์ (ตถาคต) ก็ทรงกล่าวด้วยถ้อยคำหรือว่าภาษาที่ชาวโลกกล่าว, แต่ไม่ทรงยึดถือเหมือนอย่างที่ชาวโลกกล่าวนั้น. ใน ทีฆนขสูตร -บาลี ม.ม. ๑๓/๒๖๘/๒๗๓, มีตรัสว่า ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่กล่าวคำประจบกับใครๆ ไม่กล่าวคำขัดแย้งใครๆ และโวหารใดที่เขากล่าวกันอยู่ในโลก ภิกษุนั้นก็กล่าวด้วยโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่น ถือมั่นความหมายใดๆ อย่างชาวโลก ; คำว่า “ภิกษุ” ในคำตรัสนั้น เล็งถึง พระองค์เองก็ได้ เพราะพระองค์ก็รวมอยู่ในคำว่าพระอรหันต์ด้วย ซึ่งเป็น พระอรหันต์ประเภทสัมมาสัมพุทธะ, เป็นอันว่าพระองค์ มีหลัก ในการตรัสดังนั้น. -ผู้แปล]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น