แม้แต่เทวดาก็ไม่เที่ยง

แม้แต่เทวดาก็ไม่เที่ยง

พรหมสู่ขิต



ภิกษุทั้งหลาย ! พญาสัตว์ชื่อสีหะ ออกจากถ้ำที่อาศัยในเวลาเย็น เหยียดกายแล้วเหลียวดูทิศทั้งสี่โดยรอบ บันลือสีหนาทสามครั้งแล้วก็เที่ยวไปเพื่อหาอาหาร บรรดาสัตว์เดรัจฉานเหล่าใดที่ได้ยินสีหนาท สัตว์เหล่านั้นก็สะดุ้งกลัวเหี่ยวแห้งใจ พวกที่อาศัยโพรงก็เข้าโพรง ที่อาศัยน้ำก็ลงน้ำ พวกอยู่ป่าก็เข้าป่า ฝูงนกก็โผขึ้นสู่อากาศ เหล่าช้างของพระราชาในหมู่บ้าน นิคมและเมืองหลวง ที่เขาผูกล่ามไว้ด้วยเชือกอันเหนียว ก็พากันกลัว กระชากเชือกให้ขาด แล้วถ่ายมูตรและกรีสพลาง แล่นหนีไปพลางข้างโน้นและข้างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! พญาสัตว์ชื่อสีหะ เป็นสัตว์มีฤทธิ์มาก มีศักดิ์มาก มีอานุภาพมากกว่าบรรดาสัตว์เดรัจฉาน ด้วยอาการอย่างนี้แล. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลใดตถาคตอุบัติขึ้นในโลก เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบโดยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่พอฝึกได้ไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นครูสอนเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ปลุกสัตว์ให้ตื่น เป็นผู้จำแนกธรรม. ตถาคตนั้นแสดงธรรมว่า :- สักกายะ (คือทุกข์) เป็นเช่นนี้ เหตุให้เกิดสักกายะ เป็นเช่นนี้ ความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ เป็นเช่นนี้ ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ เป็นเช่นนี้. พวกเทพเหล่าใดเป็นผู้มีอายุยืนนาน มีวรรณะ มากด้วยความสุข ดำรงอยู่นมนานมาแล้วในวิมานชั้นสูง พวกเทพนั้นๆ โดยมาก ได้ฟังธรรมเทศนาของตถาคตแล้วก็สะดุ้งกลัว เหี่ยวแห้งใจ สำนึกได้ว่า :- ท่านผู้เจริญเอ๋ย ! พวกเราเมื่อเป็นผู้ไม่เที่ยง ก็มาสำคัญว่าเป็นผู้เที่ยง เมื่อไม่ยั่งยืน ก็มาสำคัญว่ายั่งยืน เมื่อไม่มั่นคง ก็มาสำคัญว่าเราเป็นผู้มั่นคง. พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง และถึงทั่วแล้วซึ่งสักกายะ คือ ความทุกข์ ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ศักดิ์มาก อานุภาพมาก กว่าสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก ด้วยอาการอย่างนี้แล. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๔๒/๓๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น