หลักในการใช้จ่ายทรัพย์

 หลักในการใช้จ่ายทรัพย์

หลักในการใช้จ่ายทรัพย์



คหบดี ! อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ. ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ ในกรณีนี้ คือ :- ๑. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการเลี้ยงตน ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารตนให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงมารดาและบิดาให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารท่านทั้งสองให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสและกรรมกรชายหญิง ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่กันอย่างเป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงมิตรอำมาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล (อายตนโส). คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก : ๒. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการปิดกั้นอันตรายทั้งหลาย ทำตนให้สวัสดีจากอันตรายทั้งหลาย ที่เกิดจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทที่ไม่เป็นที่รักนั้นๆ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๒ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล. คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก : ๓. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการกระทำพลีกรรม ๕ ประการ คือ สงเคราะห์ญาติ (ญาติพลี) สงเคราะห์แขก (อติถิพลี) สงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว (ปุพพเปตพลี) ช่วยชาติ (ราชพลี) บูชาเทวดา (เทวตาพลี) นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๓ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล. คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก : ๔. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหามาได้โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการตั้งไว้ซึ่งทักษิณา อุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้งดเว้นแล้วจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้ฝึกฝน ทำความสงบ ทำความดับเย็น แก่ตนเอง อันเป็นทักษิณาทานที่มีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุข เป็นผลตอบแทน เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๔ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล. คหบดี ! อริยสาวกนั้น ย่อมใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการเหล่านี้. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น