ความเข้าใจผิดเรื่องกรรม 3 แบบที่อริยบุคคลจะต้องละได้

 ความเข้าใจผิดเรื่องกรรม 3 แบบ

ที่อริยบุคคลจะต้องละได้

สุขทุกข์ไม่ใช่แค่กรรมเก่า



ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธิเหล่านี้มีอยู่ เป็นลัทธิซึ่งแม้บัณฑิตจะพากันไตร่ตรอง จะหยิบขึ้นตรวจสอบ จะหยิบขึ้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร แม้จะบิดผันกันมาอย่างไร ก็ชวนให้น้อมไป เพื่อการไม่ประกอบกรรมที่ดีงามอยู่นั่นเอง. ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธินั้นเป็นอย่างไร คือ (๑) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน” (๒) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุขรับทุกข์ หรือ ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะอิศวรเนรมิตให้” (๓) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุขรับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเลย”.

เชื่อว่าสุขและทุกข์ เกิดจากกรรมเก่าอย่างเดียว

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณ-พราหมณ์พวกใด มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนอย่างเดียว” มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท ... มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน. เมื่อมัวแต่ถือเอากรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนมาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำหรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณีย) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณีย) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดจากเทพเจ้าบันดาลให้

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณ-พราหมณ์พวกใด มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะอิศวรเนรมิตให้ (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)” ดังนี้ มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องเป็นเพราะการเนรมิตของอิศวรด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอาการเนรมิตของอิศวร มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้ มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ … ลักทรัพย์ … ประพฤติผิดพรหมจรรย์ … พูดเท็จ … พูดคำหยาบ … พูดยุให้แตกกัน … พูดเพ้อเจ้อ … มีใจละโมบเพ่งเล็ง … มีใจพยาบาท … มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลยด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอาความไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๒๒/๕๐๑.

หลักในการใช้จ่ายทรัพย์

 หลักในการใช้จ่ายทรัพย์

หลักในการใช้จ่ายทรัพย์



คหบดี ! อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ. ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ ในกรณีนี้ คือ :- ๑. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการเลี้ยงตน ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารตนให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงมารดาและบิดาให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารท่านทั้งสองให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสและกรรมกรชายหญิง ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่กันอย่างเป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงมิตรอำมาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล (อายตนโส). คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก : ๒. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการปิดกั้นอันตรายทั้งหลาย ทำตนให้สวัสดีจากอันตรายทั้งหลาย ที่เกิดจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทที่ไม่เป็นที่รักนั้นๆ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๒ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล. คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก : ๓. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการกระทำพลีกรรม ๕ ประการ คือ สงเคราะห์ญาติ (ญาติพลี) สงเคราะห์แขก (อติถิพลี) สงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว (ปุพพเปตพลี) ช่วยชาติ (ราชพลี) บูชาเทวดา (เทวตาพลี) นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๓ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล. คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก : ๔. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหามาได้โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการตั้งไว้ซึ่งทักษิณา อุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้งดเว้นแล้วจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้ฝึกฝน ทำความสงบ ทำความดับเย็น แก่ตนเอง อันเป็นทักษิณาทานที่มีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุข เป็นผลตอบแทน เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๔ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล. คหบดี ! อริยสาวกนั้น ย่อมใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการเหล่านี้. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

 ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

สัปเหร่อ V สัปบุรุษ



... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจ ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้นย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้วไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่าพระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้. ... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๓/๔๔.