นาดี หรือ นาเลว

นาดี หรือ นาเลว

มานี่


ภิกษุทั้งหลาย ! พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่าง ย่อมไม่ให้ผลมาก ไม่ให้ความพอใจมาก ไม่ให้กำไรมาก ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ นาในกรณีนี้
-พื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ
-เต็มไปด้วยก้อนหินและก้อนกรวด
-ดินเค็ม
-ไถให้ลึกไม่ได้
-ไม่มีทางน้ำเข้า
-ไม่มีทางน้ำออก
-ไม่มีเหมือง
-ไม่มีหัวคันนา นี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นทานไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ สมณพราหมณ์ในกรณีนี้
-เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ
-มีมิจฉาสังกัปปะ
-มีมิจฉาวาจา
-มีมิจฉากัมมันตะ
-มีมิจฉาอาชีวะ
-มีมิจฉาวายามะ
-มีมิจฉาสติ
-มีมิจฉาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย !ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างอย่างนี้ เป็นทาน ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก.
ภิกษุทั้งหลาย ! พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่าง ย่อมให้ผลมาก ให้ความพอใจมาก ให้กำไรมาก ประกอบด้วยลักษณะ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ นาในกรณีนี้
-พื้นไม่ที่ลุ่มๆ ดอนๆ
-ไม่เต็มไปด้วยก้อนหินและก้อนกรวด
-ดินไม่เค็ม
-ไถให้ลึกได้
-มีทางน้ำเข้า
-มีทางน้ำออก
-มีเหมือง
-มีหัวคันนา นี้ฉันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างเป็นอย่างไร คือ สมณพราหมณ์ในกรณีนี้
-เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ
-มีสัมมาสังกัปปะ
-มีสัมมาวาจา
-มีสัมมากัมมันตะ
-มีสัมมาอาชีวะ
-มีสัมมาวายามะ
-มีสัมมาสติ
-มีสัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ! ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่าง อย่างนี้เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๔๑/๑๒๔.

มารทูลให้นิพพาน

 มารทูลให้นิพพาน

บวชชี พระพุทธเจ้าไม่เคยบัญญัติ



[๑๐๒] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่งเราแรกตรัสรู้ พักอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธแทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นมารผู้มีบาปยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า     ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่ แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจัก ยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจัก ยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เรา จักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กัน โดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดามนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ดูกรอานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้เอง มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเราที่ปาวาลเจดีย์ ครั้นเข้ามาหาแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มารผู้มีบาปครั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจง ปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกา ของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... อุบาสกผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้วเพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคสมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ฯ ดูกรอานนท์ เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงมีความ ขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน
    ดูกรอานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้ ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขารแล้ว ที่ปาวาลเจดีย์ ฯ พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๐  สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค
หน้าที่ ๙๔. ข้อที่ ๑๐๒ 

เหตุที่ทำให้ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง (เพราะภวตัณหา)

 เหตุที่ทำให้ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง (เพราะภวตัณหา)

The Listener



ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบอยู่ด้วยเหตุห้าอย่าง แม้ฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะก้าวลงสู่นิยาม คือความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย. เหตุห้าอย่างอะไรเล่า ? ห้าอย่างคือ สนใจแต่คำพูด สนใจแต่ผู้พูด สนใจแต่ตัวเอง มีจิตฟุ้งซ่านไม่มีเอกัคคตาจิตฟังธรรม และทำในใจไม่แยบคาย. ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบด้วยเหตุห้าอย่างเหล่านี้แล แม้ฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะก้าวลง สู่นิยาม คือความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย.

- ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๙๕/๑๕๑.
(อีกปริยายหนึ่ง) ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบอยู่ด้วยเหตุห้าอย่าง แม้ฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะก้าวลงสู่นิยาม คือความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย. เหตุห้าอย่างอะไรเล่า ? ห้าอย่างคือ สนใจแต่คำพูด สนใจแต่ผู้พูด สนใจแต่ตัวเอง เป็นคนโง่เง่าเงอะงะ มัวแต่สำคัญตนว่ารู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้. ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบ ด้วยเหตุห้าอย่างนี้แล แม้ฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะก้าวลง สู่นิยาม คือความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย. - ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๙๕/๑๕๒. (อีกปริยายหนึ่ง) ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบอยู่ด้วยเหตุห้าอย่าง แม้ฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะก้าวลงสู่นิยาม คือความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย. เหตุห้าอย่างอะไรเล่า ? ห้าอย่างคือ เป็นคนลบหลู่ฟังธรรม มีจิตมากไปด้วยความลบหลู่ แข่งดีฟังธรรม คอยจ้องจับความผิดพลาดในผู้แสดงธรรมด้วยจิตมุ่งร้ายแข็งกระด้าง เป็นคนโง่เง่าเงอะงะ มัวแต่สำคัญตนว่ารู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้. ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบด้วยเหตุห้าอย่างเหล่านี้แล แม้ฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะก้าวลงสู่นิยาม คือความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย. - ปญจก. อํ. ๒๒/๑๙๖/๑๕๓. (ในตอนท้ายของแต่ละปริยาย ได้ตรัสถึงบุคคลผู้มีธรรมตรงกันข้าม คือสามารถฟังธรรมสำเร็จประโยชน์, ผู้ศึกษาพึงคำนวณเอาด้วยตนเอง โดยปฏิปักขนัยจากข้อความข้างบนนี้)

การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา

 การดำรงสมาธิจิตเมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา

วาดรูปในอากาศ


เปรียบเหมือนบุรุษจักกระทำแผ่นดินไม่ให้เป็นแผ่นดิน



เผาคงคา




ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ :-     ๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล     ๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง     ๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย     ๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์     ๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันเป็นจิตไพบูลย์ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเนียกอย่างนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาสีมา เป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้แลหรือ ? “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”. เพราะเหตุไรเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปไม่ได้ แสดงออกซึ่งรูปไม่ได้ ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหา ๕ ประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. (คือมีจิตเหมือนอากาศ อันใครๆ จะเขียนให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น). ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล... (นอกจากนี้ยังทรงอุปมาเปรียบกับบุรุษถือเอาจอบและกระทอมาขุดแผ่นดิน หวังจะไม่ให้เป็นแผ่นดินอีก, เปรียบกับบุรุษถือเอาคบเพลิงหญ้ามาเผาแม่น้ำคงคา หวังจะให้เดือดพล่าน ซึ่งเป็นฐานะที่ไม่อาจเป็นได้). -บาลี มู. ม. ๑๒/๒๕๔, ๒๕๖/๒๖๗, ๒๖๙.

ครั้งมีพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ

ครั้งมีพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ

จิกมวยผม


อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่เธอว่า ‘ผู้อื่นต่างหาก ที่เป็นโชติปาลมาณพในสมัยโน้น’. อานนท์ ! เธอไม่ควรเห็นเช่นนั้น, เรานี่เองได้เป็นโชติปาลมาณพแล้ว ในสมัยนั้น...... อานนท์ ! ครั้งดึกดำบรรพ์ พื้นที่ตรงนี้เป็นนิคมชื่อเวภฬิคะ มั่งคั่งรุ่งเรือง มีคนมากเกลื่อนกล่น. อานนท์ ! พระผู้มีพระภาค นามว่า กัสสปะ ทรงอาศัยอยู่ ณ นิคมเวภฬิคะนี้, ได้ยินว่า อารามของพระองค์ อยู่ตรงนี้เอง, ท่านประทับนั่งกล่าวสอนหมู่สาวก ตรงนี้. อานนท์ ! ในนิคมเวภฬิคะ มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของพระผู้มีพระภาคกัสสปะนั้น. ฆฏิการะมีสหายรักชื่อโชติปาละ. อานนท์ ! ครั้งนั้น ฆฏิการะเรียกโชติปาลมาณพผู้สหายมาแล้วกล่าวว่า “เพื่อนโชติปาละ ! มา, เราไปด้วยกัน, เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปะ. การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี”. “อย่าเลย, เพื่อนฆฏิการะ ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะ หัวโล้น”. “เพื่อนโชติปาละ ! ไปด้วยกันเถอะ, ฯลฯ การเห็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี”. “อย่าเลย, เพื่อนฆฏิการะ ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะ หัวโล้น”. (โต้กันดั่งนี้ถึงสามครั้ง). “ถ้าเช่นนั้น เราเอาเครื่องขัดถูร่างกายไปอาบน้ำที่แม่น้ำกันเถอะ, เพื่อน ! ” อานนท์ ! ครั้งนั้น ฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้ถือเครื่องขัดสีตัวไปอาบน้ำที่แม่น้ำด้วยกันแล้ว , ฆฏิการะได้กล่าวกะโชติปาลมาณพอีกว่า “เพื่อนโชติปาละ ! นี่เอง วิหารแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะอยู่ไม่ไกลเลย, ไปเถอะเพื่อน ! เราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน, การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี”. “อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะ หัวโล้นนั้น”. (โต้กันดังนี้ถึง ๓ ครั้ง). อานนท์ ! ฆฏิการะ ได้เหนี่ยวโชติปาลมาณพที่ชายพก แล้วกล่าวว่า “เพื่อนโชติปาละ ! ตรงนี้เอง วิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ไกลเลย, ไปเถอะเพื่อน, เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน , การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี”. อานนท์ ! ครั้งนั้นโชติปาละ พยายามโดยวิธีที่ฆฏิการะต้องปล่อยชายพกนั้นได้แล้ว กล่าวว่า “อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ ! ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะหัวโล้น.” อานนท์ ! ลำดับนั้น ฆฏิการะ เหนี่ยวโชติปาลมาณพ ผู้อาบน้ำสระเกล้าเรียบร้อยแล้ว เข้าที่มวยผมแล้ว กล่าวดั่งนั้นอีก. อานนท์ ! โชติปาลมาณพ เกิดความคิดขึ้นภายในใจว่า “น่าอัศจรรย์หนอท่าน, ไม่เคยมีเลยท่าน, คือข้อที่ฆฏิการะช่างหม้อมีชาติอันต่ำ มาอาจเอื้อมจับเรา ที่มวยผมของเรา, เรื่องนี้เห็นจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้วหนอ.” ดังนี้, จึงกล่าวกะฆฏิการะช่างหม้อ : - “เพื่อนฆฏิการะ ! นี่จะเอาเป็นเอาตายกันเจียวหรือ ?” “เอาเป็นเอาตายกันทีเดียว, เพื่อนโชติปาละ ! เพราะการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการดีจริง ๆ.” “เพื่อนฆฏิการะ ! ถ้าเช่นนั้น ก็จงปล่อย เราจักไปด้วยกันละ”. อานนท์ ! ลำดับนั้น ฆฏิการะและโชติปาลมาณพ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกัสสปะถึงที่ประทับ. ฆฏิการะผู้เดียว ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร; ส่วนโชติปาลมาณพ ได้ทำความคุ้นเคยชื่นชมกับพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ นั่งอยู่แล้ว. ฆฏิการะได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะว่า “พระองค์ผู้เจริญ ! นี่คือ โชติปาลมาณพสหายรักของข้าพระพุทธเจ้า, ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงธรรมแก่เขาเถิด”. อานนท์ ! พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ได้ทำให้ฆฏิการะและโชติปาละเห็นจริง, ถือเอา, อาจหาญและร่าเริงเป็นอย่างดี ด้วยธรรมิกถาแล้ว. ทั้งสองคนเพลิดเพลินปราโมทย์ต่อภาษิตของพระองค์, บันเทิงจิต ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณ แล้วจึ่งหลีกไป. อานนท์ ! ลำดับนั้น โชติปาลมาณพได้กล่าวถามกะฆฏิการะว่า “เพื่อนฆฏิการะ ! เพื่อนก็ฟังธรรมนี้อยู่ ทำไมจึงยังไม่บวชออกจากเรือน เป็นผู้ไม่หวังประโยชน์ด้วยเรือน เล่า ?” “เพื่อนไม่เห็นหรือ เพื่อนโชติปาละ ! ฉันต้องเลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่ และตาบอดอยู่”. “เพื่อนฆฏิการะ ! ถ้าเช่นนั้น ฉันจักบวช ออกจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนละ”. อานนท์ ! ครั้งนั้น เขาทั้งสองได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกัสสปะอีก. ฆฏิการะกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ! โชติปาละสหายรักของข้าพระพุทธเจ้านี่แล ประสงค์จะบวช, ขอพระองค์จงให้เขาบวชเถิด”. อานนท์ ! โชติปาลมาณพ ได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักแห่งพระผู้มีพระภาคกัสสปะแล้ว, ราวกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ก็เสด็จจาริก ไปยังเมืองพาราณสี. ...ฯลฯ... อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่เธอว่า “คนอื่นต่างหากที่เป็นโชติปาลมาณพในสมัยโน้น”. อานนท์ ! เธอไม่ควรคิดไปอย่างนั้น, เรานี่เอง, เป็นโชติปาลมาณพแล้ว ในสมัยโน้น.     บาลี ฆฏิการสูตร ม. ม. ๑๓/๓๗๕/๔๐๕. ๑. เนื้อความท่อนนี้ อยู่ท้ายสูตร นำมาจั่วหน้า, เพื่อให้เข้าใจง่ายว่าตรัสถึงเรื่องในชาติก่อน.