สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้นเมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”. ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมาเป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :-
อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม {๑} อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.
ความรู้สึกภายในใจ เมื่อละตัณหา(ความอยาก) ได้
เราเมื่อยังค้นไม่พบแสงสว่าง, มัวเสาะหานายช่างปลูกเรือน (คือตัณหา ผู้ก่อสร้างเรือนคืออัตตภาพ) อยู่, ได้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กล่าวคือ ความเกิดแล้ว เกิดอีกเป็นอเนกชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไปทุกชาติ.
แน่ะ นายช่างผู้ปลูกสร้างเรือน ! เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว, เจ้าจักสร้างเรือนให้เราต่อไปอีกไม่ได้, โครงเรือน (คือกิเลสที่เหลือเป็นเชื้อเกิดใหม่) ของเจ้า เราหักเสียยับเยินหมดแล้ว ยอดเรือน (คืออวิชชา) เราขยี้เสียแล้ว, จิตของเรา ถึงความเป็นธรรมชาติ ที่อารมณ์จะยุแหย่ ยั่วเย้าไม่ได้เสียแล้ว มันได้ลุถึงความหมดอยากทุกอย่าง.
-บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๓๕/๒๑.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น