ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป

ทักษิณมีโรครุมเร้า



(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”. 

อานนท์ ! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือ ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม, ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต; ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้.           พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า :

โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย ! กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๘๗/๙๖๒. 

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

 หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

แห่ไหว้ครูแน่นเลย



คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ     (๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้     (๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง     (๔) ด้วยการปรนนิบัติ     (๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-     (๑) แนะนำดี     (๒) ให้ศึกษาดี     (๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง     (๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย     (๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง     เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๙๕/๑๗๔.

ศีล ๕

 ศีล ๕

ศีล ๕ ยิ่งใหญ่มาก



(ปาณาติปาตา เวรมณี) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่. (อทินนาทานา เวรมณี) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน (ลักทรัพย์) ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาดเป็นอยู่. (กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี) เธอนั้น ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น. (มุสาวาทา เวรมณี) เธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก. (สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี) เธอนั้น เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท. -บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๔๗/๒๘๖., -บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓., -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๕/๑๖๕.

สิ่งที่ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (พระโสดาบัน) ทำไม่ได้โดยธรรมชาติ

สิ่งที่ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (พระโสดาบัน)

ทำไม่ได้โดยธรรมชาติ

กรูเป็นพุทธ จะไหว้ไรก็ได้



ภิกษุทั้งหลาย ! ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้ (โดยธรรมชาติ) ๖ ประการเหล่านี้ มีอยู่. หกประการ เหล่าไหนเล่า ? หกประการ คือ :- ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจเข้าถึงสังขารไรๆ โดยความเป็นของเที่ยง; ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจเข้าถึงสังขารไรๆ โดยความเป็นของสุข;  ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจเข้าถึงธรรมะไรๆ โดยความเป็นตัวตน; ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจกระทำอนันตริยกรรม; ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจหวังการถึงความบริสุทธิ์ โดยโกตุหลมงคล; ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจแสวงหาทักขิเณยยบุคคล ภายนอกจากศาสนานี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้ ๖ ประการ.
-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๘๙/๓๖๔. 

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

ถ้าไม่กลัวตาย ก็กลัวเกิดหน่อยเถอะ



ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้นเมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”. 

ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมาเป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่.  อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :- อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม {๑} อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้. ๑. โยคกรรม คือ การกระทำอย่างเป็นระบบ 


-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.


ความรู้สึกภายในใจ เมื่อละตัณหา(ความอยาก) ได้

เราเมื่อยังค้นไม่พบแสงสว่าง, มัวเสาะหานายช่างปลูกเรือน (คือตัณหา ผู้ก่อสร้างเรือนคืออัตตภาพ) อยู่, ได้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กล่าวคือ ความเกิดแล้ว เกิดอีกเป็นอเนกชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไปทุกชาติ. แน่ะ นายช่างผู้ปลูกสร้างเรือน ! เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว, เจ้าจักสร้างเรือนให้เราต่อไปอีกไม่ได้, โครงเรือน (คือกิเลสที่เหลือเป็นเชื้อเกิดใหม่) ของเจ้า เราหักเสียยับเยินหมดแล้ว ยอดเรือน (คืออวิชชา) เราขยี้เสียแล้ว, จิตของเรา ถึงความเป็นธรรมชาติ ที่อารมณ์จะยุแหย่ ยั่วเย้าไม่ได้เสียแล้ว มันได้ลุถึงความหมดอยากทุกอย่าง. -บาลี ธ. ขุ. ๒๕/๓๕/๒๑.

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

 ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

OPEN DHARMA


“อย่าเลย วักกลิ ! ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นกายเน่านี้. วักกลิ ! ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา, ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม. วักกลิ ! เพราะว่าเมื่อเห็นธรรมอยู่ ก็คือเห็นเรา, เมื่อเห็นเราอยู่ ก็คือเห็นธรรม” ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลังๆ. แต่ถ้าเธอนั้น มากไปด้วยอภิชฌา มีกามราคะกล้า มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไปแกว่งมา ไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้; ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลจากเรา แม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้น โดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเหตุเพราะว่า ภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุนั้นจะอยู่ห่าง (จากเรา) ตั้งร้อยโยชน์ แต่ถ้าเธอนั้น ไม่มากไปด้วยอภิชฌา ไม่มีกามราคะกล้า ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตเป็นสมาธิ ถึงความเป็นเอกัคคตา (จิตมีอารมณ์อันเดียว) สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้; ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ใกล้กับเรา แม้เราก็อยู่ใกล้กับภิกษุนั้น โดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็ชื่อว่าเห็นเรา แล. -บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๔๖/๒๑๖. -บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๐๐/๒๗๒.

หลังปรินิพพาน เทวดาและมนุษย์จะไม่เห็นตถาคตอีก

 หลังปรินิพพาน เทวดาและมนุษย์จะไม่เห็นตถาคตอีก

งดเล่า เข้าพรรษา



ภิกษุทั้งหลาย! กายของตถาคตนี้ มีตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพถูกตถาคตถอนขึ้น เสียได้แล้ว, ดำรงอยู่. กายนี้ยังดำรงอยู่เพียงใด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ยังคงได้เห็นตถาคตนั้น อยู่เพียงนั้น. เพราะการทำลายแห่งกาย, หลังจากการควบคุมกันอยู่ได้ของชีวิต เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคตนั้นเลย. ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนเมื่อขั้วพวงมะม่วงขาดแล้ว มะม่วงทั้งหลายเหล่าใด ที่เนื่องขั้วเดียวกัน มะม่วงเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นของตกตามไปด้วยกัน. นี้ฉันใด ; ภิกษุทั้งหลาย! กายของตถาคตก็ฉันนั้น : กายของตถาคต มีตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพอันตถาคตถอนขึ้นเสียได้แล้ว, ดำรงอยู่. กายนี้ดำรงอยู่เพียงใด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ยังคงเห็นตถาคตอยู่ชั่วเวลาเพียงนั้น. เพราะการทำลายแห่งกาย, หลังจากการควบคุมกันอยู่ได้ของชีวิต เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักไม่เห็นตถาคตเลย.     - บาลี สี. ที. ๙/๕๙/๙๐.

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี

 ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี

ฆราวาสคับแคบ



ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนกธรรมออกสั่งสอนสัตว์. ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตนั้น ได้ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้กับทั้งเทวดา มาร พรหม ซึ่งหมู่สัตว์ กับทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้แจ้งตาม. ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. คหบดีหรือบุตรคหบดี หรือคนที่เกิดในตระกูลอื่นใดในภายหลัง ย่อมฟังธรรมนั้น. ครั้นฟังแล้ว ย่อมเกิดศรัทธาในตถาคต. กุลบุตรนั้นผู้ประกอบอยู่ด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า “ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี; ส่วน บรรพชา เป็นโอกาสว่าง มันไม่เป็นไปได้โดยง่ายที่เราผู้อยู่ครองเรือนเช่นนี้ จะประพฤติพรหมจรรย์นั้น ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดสะอาดดีแล้ว. ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือนไป บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนเถิด...” . -บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๗/๔๕๔.