เรื่องยสกุลบุตร

เรื่องยสกุลบุตร

ผู้ถึงสรณะแท้จริงแล้ว



[๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครพาราณสี มีกุลบุตร ชื่อ ยส เป็นบุตรเศรษฐี สุขุมาลชาติ. ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่ง เป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน. ยสกุลบุตรนั้นรับบำเรอด้วยพวกดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ในปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือน ไม่ลงมาเบื้องล่างปราสาท. ค่ำวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรอิ่มเอิบพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ได้นอนหลับก่อน ส่วนพวกบริวารชนนอนหลับภายหลัง. ประทีปน้ำมันตามสว่างอยู่ตลอดคืน. คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน ได้เห็นบริวารชนของตนกำลังนอนหลับ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีน้ำลายไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆ ปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจป่าช้าผีดิบ. ครั้นแล้วความเห็นเป็นโทษได้ปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย จึงยสกุลบุตรเปล่งอุทานว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ แล้วสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย. ลำดับนั้น ยสกุลบุตรเดินตรงไปทางประตูพระนคร. พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตร. ทีนั้น ยสกุลบุตรได้เดินตรงไปทางป่า
อิสิปตนะมฤคทายวัน. [๒๖] ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้. ขณะนั้น ยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ. ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยส นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ. ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจว่า ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ดังนี้ แล้วถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. บิดาของยสกุลบุตรตามหา [๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาของยสกุลบุตรขึ้นไปยังปราสาท ไม่เห็นยสกุลบุตร จึงเข้า ไปหาเศรษฐีผู้คหบดี แล้วได้ถามว่า ท่านคหบดีเจ้าข้า พ่อยสกุลบุตรของท่านหายไปไหน? ฝ่ายเศรษฐีผู้คหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง ๔ ทิศแล้ว ส่วนตัวเองไปหาทางป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน.ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ ครั้นแล้วจึงตามไปสู่ที่นั้น. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีผู้คหบดีมาแต่ไกล. ครั้นแล้วทรงพระดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เศรษฐีคหบดีนั่งอยู่ ณ ที่นี้ ไม่เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้ แล้วทรงบันดาลอิทธาภิสังขารดังพระพุทธดำริ. ครั้งนั้น เศรษฐีผู้คหบดีได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคทรงเห็นยสกุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรคหบดี ถ้าอย่างนั้น เชิญนั่ง บางทีท่านนั่งอยู่ ณ ที่นี้ จะพึงได้เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้. ครั้งนั้น เศรษฐีผู้คหบดีร่าเริงบันเทิงใจว่า ได้ยินว่า เรานั่งอยู่ ณ ที่นี้แหละ จักเห็น ยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้ จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. เมื่อเศรษฐีผู้คหบดีนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า เศรษฐีผู้คหบดี มีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่เศรษฐีผู้คหบดี ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อม ฉะนั้น. ครั้นเศรษฐีผู้คหบดี ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ก็เศรษฐีผู้คหบดีนั้น ได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้างพระรัตนตรัย เป็นคนแรกในโลก. ........ พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑
หน้าที่ ๒๔. ข้อที่ ๒๓ - ๒๔ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น