วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก่อนตรัสรู้
ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่งสมาธิใด สมาธินั้น ภิกษุย่อมจะได้โดยไม่หนักใจ ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่งสมาธิไหนกันเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่ง อานาปานสติสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเจริญ ทำให้มากซึ่ง อานาปานสติสมาธิ อยู่อย่างไรเล่า ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า หรือโคนไม้หรือ เรือนว่างก็ตาม แล้วนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก.
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”, ว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเจริญ ทำให้มากซึ่ง อานาปานสติสมาธิอยู่อย่างนี้แล ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้. .....ฯลฯ.....
ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เราเองก็เหมือนกัน ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรม คือ อานาปานสติสมาธิ นี้เป็นส่วนมาก.
เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีอุปาทาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่ากายของเราก็อย่าลำบาก ตาของเราก็อย่าลำบากและจิตของเราก็จงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีอุปาทานเถิด ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ซึ่งอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๙/๑๓๒๔.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๑/๑๓๒๙.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น